ชำแหละ!! เบื้องลึกสูตรคำนวณค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 65 บาทตลอดสาย

03 ธ.ค. 2563 | 09:12 น.

“คมนาคม” เตรียมข้อมูลแจงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อนายกรัฐมนตรี เหตุติดปัญหา 4 ด้านหลังคมนาคมให้ความเห็นเพิ่มเติมการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ย้ำควรใช้สูตรคำนวณค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้าการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เป็นปัญหาอยู่นั้น เบื้องต้นอยู่ระหว่างรอทางกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ตอบกลับข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมได้สอบถามไว้ ในประเด็นคำถาม 4 ด้านเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบ ม.44 การคำนวณราคาค่าโดยสาร การใช้ทรัพย์สินของรัฐ และข้อพิพาททางกฎหมาย โดยเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ เชื่อว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณา เพราะสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 และยังมาสัญญาเดินรถถึงปี 2585 ดังนั้นการใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดนี้ ไม่กระทบต่อการใช้บริการของประชาชน  ทั้งนี้ทางกระทรวงฯ ได้เตรียมข้อมูลทั้งหมดที่มี เพื่อชี้แจงต่อพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการกำหนดค่าโดยสารที่มีการคำนวณราคาค่าโดยสารรวมในเส้นทางปัจจุบัน รวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะมีราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท

 

“ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมที่มีหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index ) และจากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคม นำมาคำนวณค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด ต่ำกว่า 65 บาท”

 

อ่านข่าว งานเข้า กทม!! บีทีเอส ส่อเก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 158 บาทตลอดสาย

อ่านข่าว ไขข้อข้องใจ ทำไม!! กทม.เตรียมหยุดเดินรถไฟฟ้า BTS “สายสีเขียว” ส่วนต่อขยาย

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณารายละเอียดในการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ยังมีระยะเวลาที่สามารถพิจารณารายละเอียดได้ ไม่ต้องรีบร้อนเนื่องจากสัมปทานจะหมดในปี 2572 โดยยืนยันว่าการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ และมั่นใจว่าการขยายสัมปทาน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า  สำหรับการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากคูคต–เคหะสมุทรปราการ จำนวน 59 สถานี ที่จัดเก็บในราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จากราคาปกติ 158 บาทตลอดสาย และเกิดเป็นประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งขึ้น ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ฐานข้อมูลต่างกัน เพราะกระทรวงคมนาคมได้เข้าไปตรวจสอบสูตรคำนวณที่มาของค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสายอ้างอิงจากกรุงเทพมหานคร และบีทีเอส พบว่าใช้สูตรคำนวณมาจาก CPI กระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นการคำนวณรวมหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ซึ่งตามหลักแล้วการคำนวณค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ควรนำ CPI รวมหมวดอาหารและเครื่องดื่มมาคำนวณด้วย อีกทั้งค่าโดยสารของ รฟม.ก็ไม่ได้นำหมวดอาหารและเครื่องดื่มมาคำนวณร่วม ดังนั้นควรมีการใช้สูตรคำนวณเดียวกัน ซึ่งกระทรวงฯ พบว่าหากใช้สูตรคำนวณไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม จะทำให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลดลงได้มากกว่า 20% จากอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย