“สุริยะ” ดัน "กสอ." ปั้น ทีมกูรูดีพร้อมสร้าง "start up" คนรุ่นใหม่

01 ธ.ค. 2563 | 06:10 น.

“สุริยะ”ดัน กสอ. ปั้น ทีมกูรูดีพร้อมสร้าง start up คนรุ่นใหม่ พัฒนาโมเดลธุรกิจ เชื่อมแหล่งเงินทุน ต่อยอดธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการตลาดสําหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือโครงการสตาร์ทอัพคอนเน็ค (Startup Connect) โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หรือ ทีมกูรูดีพร้อม (DIProm Guru) ให้คําปรึกษาตลอดการวางแผนธุรกิจอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งมีความพร้อมที่จะเข้าสู่เชิงพาณิชย์

                ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสําคัญกับผู้ประกอบการในทุกระดับผ่านการสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดําเนินการ ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเบื้องต้น หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ในภาคอุตสาหกรรม

                และส่วนใหญ่เกิดจากศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ยังขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจําเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีโอกาสทางธุรกิจขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพจํานวนมากให้ความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Technology 

“สุริยะ” ดัน "กสอ." ปั้น ทีมกูรูดีพร้อมสร้าง "start up" คนรุ่นใหม่

                นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กสอ. กล่าวว่า กสอ. ขานรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา กสอ. ได้มีโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง สําหรับโครงการในปีนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ให้ความสนใจร่วมลงทุนสตาร์ทอัพในกลุ่ม Deep Technology ซึ่งถือได้ว่ามีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้ในปัจจุบัน

จึงได้จัดตั้ง ทีมกูรูดีพร้อมเข้าไปบ่มเพาะและดําเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ในระยะเริ่มต้น (Early Stage) เพื่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่และต้นแบบเชิงนวัตกรรมในการนำไปทดสอบเชิงพาณิชย์ จากนั้นจึงจะดําเนินการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงธุรกิจร่วมลงทุนภาคเอกชน (Venture Capital: VC) เพื่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจที่มีประสิทธิภาพส่งผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการและภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุน

                สำหรับโครงการนี้มีสตาร์ทอัพ 35 กิจการ ที่ผ่านการบ่มเพาะจาก กสอ. ให้ความสนใจและได้นำเสนอรายละเอียดทางธุรกิจให้กับ VC ในเครือข่าย กสอ. ซึ่งรวมถึง บริษัท อีซีจี-รีเซียร์ช จำกัด โดยมีสตาร์ทอัพได้รับคัดเลือกให้นำเสนอไอเดียหรือธุรกิจในรอบสุดท้าย จำนวน 6 กิจการ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัทฯ คิดเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท

                “กสอ. ยังได้ส่งเสริมผู้ประกอบสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทําให้สามารถดําเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังมีเครือข่ายภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนสําหรับผู้ประกอบการในการต่อยอดสู่เป้าหมายในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถดําเนินธุรกิจในภาวการณ์ต่าง ๆ”