“ALT” คาดสิ้นปี 63 ติดสมาร์ทมิเตอร์พัทยาทะลุ 1 แสนครัวเรือน

30 พ.ย. 2563 | 10:45 น.

“ALT” เผยยอดติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์เมืองพัทยา ให้ กฟภ. ล่าสุดอยู่ที่ 9.6 หมื่นครัวเรือน คาดสิ้นปีติดตั้งทะลุเป้าหมาย 1 แสนครัวเรือน

นายสุรพงษ์ ปัตถนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจ บริษัท เอ็นเนอร์จี แม็คซ์ จำกัด (EMAX) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า บริษัทในฐานะตัวแทนหลักคู่สัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการติดตั้งโครงการมิเตอร์อัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริดในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จำนวน 1.2 แสนครัวเรือน ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 จนถึงล่าสุดบริษัทมียอดติดตั้งมิเตอร์ใหม่ หรือสมาร์ทมิเตอร์ (Smart Meter) ให้ครัวเรือนต่างๆ ไปแล้ว 96,007 ครัวเรือน หรือมากกว่า 82% ของโครงการ

              ทั้งนี้  คาดว่าภายในสิ้นปี 63 จะสามารถติดตั้งมิเตอร์ใหม่ได้ทะลุเป้าหมายที่ระดับ 1 แสนครัวเรือน และภายในไตรมาสแรกปี 64 เชื่อว่าจะดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ใหม่ได้ครบตามสัญญา 1.2 แสนครัวเรือน

“ALT” คาดสิ้นปี 63 ติดสมาร์ทมิเตอร์พัทยาทะลุ 1 แสนครัวเรือน

              สำหรับเอ็นเนอร์จี แม็คซ์ สมาร์ท มิเตอร์ ที่ได้ติดตั้งในโครงการเมืองพัทยา เป็นมิเตอร์ที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย แต่นำเข้าชิ้นส่วนจากฝรั่งเศสและอเมริกา โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Dual Communication คือ มีทั้ง RF และ  PLC mesh ในโมเดลเดียวกันทำให้การสื่อสารระหว่าง สมาร์ท มิเตอร์ กับ ระบบ มีอัตราความสำเร็จมากกว่า 98% ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งแตกต่างจาก สมาร์ทมิเตอร์ ทั่วไปที่จะมีเทคโนโลยีสื่อสารเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทำให้การผันแปรของสิ่งแวดล้อมในขณะสื่อสารหรือส่งข้อมูล ส่งผลกระทบอย่างสูงทำให้อัตราความสำเร็จต่ำกว่า

ขณะเดียวกัน Dual Communication ยังทำให้ กฟภ. มีความมั่นใจว่าการเจริญเติบโตของเมือง เช่น คอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้น หรือ ต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล จะไม่มีผลกระทบต่อการสื่อสารระหว่างมิเตอร์กับระบบเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ซึ่งจะลดภาระการบำรุงรักษาของ กฟภ. 

นอกจากนี้ การออกแบบ ฝาครอบ Terminal Cover ของ สมาร์ท มิเตอร์ ที่เป็นแบรนด์ของ เอ็นเนอร์จี แม็คซ์ ให้เป็นแบบใส มองเห็นได้ ยังช่วยให้ กฟภ. ชื่นชอบเพราะสามารถมองเห็นความผิดปกติภายใต้ฝาครอบได้สะดวก  โดยเฉพาะเมื่อมีผู้พยายามละเมิดการใช้ไฟฟ้า โดยไม่ต้องไปเปิดฝาครอบเพื่อตรวจสอบซึ่งเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์

              “เมื่อโครงการแล้วเสร็จ กฟภ. จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มากขึ้น เช่น เมื่อกระแสไฟฟ้าดับ ทางเจ้าหน้าที่ กฟภ. จะได้รับการแจ้งเตือนจากระบบโดยไม่ต้องรอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบเหตุเป็นผู้แจ้ง ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการเข้าแก้ไขเพื่อทำให้ไฟฟ้ากลับมาให้บริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งในบางกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบจากไฟฟ้าดับเลยก็เป็นได้”