ร่อนหนังสือ  5 หน่วยงาน แก้สัญญา สัมปทาน สายสีเขียว

29 พ.ย. 2563 | 00:50 น.

“มหาดไทย-กทม.” รับศึกหนัก หลังครม.ส่งหนังสือขอความเห็นชอบผลเจรจาการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว  วอนรับความเห็นคลัง-คมนาคมพิจาณา ก่อนชงครม.ไฟเขียวรอบ 2

 

 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือขอความเห็นชอบผลเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงมหาดไทย  เพื่อรับทราบผลการเจรจาการต่อสัญญาสัมปทานโครงการฯ  เบื้องต้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  สภาพัฒน์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมทั้งคำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน เช่น รูปแบบการดำเนินโครงการการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับ ประโยชน์สูงสุดของประชาชน  และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงเพิ่มเติมว่าสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าว พร้อมทั้งแจงข้อสังเกตเพื่อให้กรุงเทพ มหานคร (กทม.) นำความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดไปดำเนินการแล้วแต่กรณี จนได้ผลการเจรจาเป็นที่ยุติและมีร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขแล้ว ให้ถือว่าการดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทำให้ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ถือเป็นการดำเนินการแก้ไขร่างสัญญาที่ถูกต้องและครบถ้วน

 

ร่อนหนังสือ  5 หน่วยงาน แก้สัญญา สัมปทาน สายสีเขียว

 

 

 

ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งไม่ใช่การยกเลิกสัญญาสัมปทานหรือยกเลิกสัญญาร่วมลงทุนเดิม หรือจัดทำสัญญาใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย หากมีการยกเลิก แก้ไข ปรับปรุง จะต้องออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ  

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล  แจ้งต่อว่า ขณะเดียวกันได้รับทราบถึงความเห็นของกระทรวงคมนาคมทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย  1.ความครบถ้วนตามหลักการพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รวมทั้งการกำหนดขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนตามกระบวนการต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FIRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนปริมาณผู้โดยสารและราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน  2.กรณีการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน

 

สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงโดยกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากปัจจุบันประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้า จำนวน 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่่ำ 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่งผลให้สินทรัพย์ทั้งหมดที่กำลังตกเป็นของรัฐเมื่อครบกำหนดตามสัญญาสัมปทาน พ.ศ.2572 ใช้ประโยชน์โดยผู้รับสัญญาสัมปทานรายเดิมต่อเนื่อง และรวมส่วนต่อขยาย

 

ช่วงแบริ่ง-สมุทร ปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประกอบด้วย สินทรัพย์เดิมของรัฐ จำนวน 23.5 กม.แรก สินทรัพย์ของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำนวน 12.75 กม. (ตากสิน-บางหว้า-อ่อนนุช-แบริ่ง)  สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 13 กม. (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 19 กม. รวมระยะทางโครงข่ายเส้นทางทั้งหมด 68.25 กม.

 

 

 

 

หากสินทรัพย์ตกเป็นของรัฐในปี 2572 และรัฐให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างงานโยธา รถ และงานระบบเดิม จะทำให้เอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติมในการจัดหางานระบบเดินรถคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าการลงทุนโครงการใหม่มีเพียงแค่การจัดหารถและปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณเพื่อใช้ในการบริการวิ่งเพิ่มเติมและการให้บริการเท่านั้นจึงควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานว่าเป็นจำนวนเท่าใด  จนกว่าจะครบอายุสัญญาเพื่อป้องกันรัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับและประโยชน์ที่ตกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

 

และ 4. ข้อพิพาททางกฎหมายเกิดจาในกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำสัญญาจ้างร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไปจนถึงปี 2585 สมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อสัญญาก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจน

 

รายงานจากกระทรวงการคลัง   ระบุว่า สำหรับความเห็นของกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงความเห็นเพิ่มเติมว่า  ตามปกติโครงการร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ไม่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการตามประกาศ (ค.ป.ท.) เบื้องต้นโครงการฯ ถือเป็นการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับโครงการข้อตกลงคุณธรรมไว้เป็นการเฉพาะ หากกทม.จะนำแบบข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ได้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวได้นำแนวทางและวิธีการของโครงการข้อตกลงคุณธรรม มาปรับใช้ในการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานของโครงการฯ ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการของการจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรม

 

ขณะเดียวกันกทม.ควรพิจารณากำหนดระดับการให้บริการของเอกชนเป็นไปอย่างเหมาะสม ตลอดระยะเวลาของสัญญา และมีกลไกในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของเอกชนเป็นไปตามระดับการให้บริการที่กำหนดไว้ในสัญญาอย่างเคร่งครัด เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3631