"ศักดิ์สยาม" เร่ง กทม.แก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นแบกหนี้เพิ่ม 8 พันล.

27 พ.ย. 2563 | 07:53 น.

"ศักดิ์สยาม" ยันไม่ได้ค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เร่งกทม.ทำข้อมูลเพิ่มเติม หลังคมนาคมแนะความเห็น 4 เรื่อง ก่อนสายสีเขียวส่วนต่อขยายเตรียมเปิดให้บริการ 16 ธ.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่จะเปิดให้บริการภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะกระทบต่อหนี้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องจ่ายให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) จำนวน 8,000 ล้านบาท ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลในส่วนที่กระทรวงคมนาคมมีความคิดเห็นเพิ่มเติมทั้ง 4 เรื่องให้ชัดเจน ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้ค้านโครงการฯ แต่มีความคิดเห็นเพิ่มเติมตั้งแต่หนังสือฉบับแรกที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทั้งนี้กระทรวงเห็นด้วยในการดำเนินการแต่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามมติครม.รวมทั้งตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล

 

"ขณะนี้ข้อมูลที่เสนอมานั้นยังไม่ครบถ้วนทั้ง 4 เรื่อง ซึ่งจะต้องดูกระบวนการทั้งหมด บางเรื่องถ้าทำโดยไม่ได้ดูรายละเอียดอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต หากทุกอย่างชัดเจนสามารถอธิบายได้ก็ดำเนินการได้ เราก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เชื่อว่าขณะนี้ยังมีเวลาพิจารณา"

สำหรับความเห็นเพิ่มเติมทั้ง 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความครบถ้วนตามหลักการพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 46และมาตรา 47 โดยกำหนดขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนตามกระบวนการต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FIRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนปริมาณผู้โดยสารและราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

 

2.กรณีการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงโดยกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากปัจจุบันประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้า จำนวน 130 บาทต่อวันซึ่งคิดเป็น 35 % ของค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นส่งผลให้สามารถลดอัตราค่าโดยสารลงได้มากกว่า 65 บาท

3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่งผลให้สินทรัพย์ทั้งหมดที่กำลังตกเป็นของรัฐเมื่อครบกำหนดตามสัญญาสัมปทาน พ.ศ.2572 ใช้ประโยชน์โดยผู้รับสัญญาสัมปทานรายเดิมต่อเนื่อง และรวมส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

 

4.ข้อพิพาททางกฎหมายเกิดจาในกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำสัญญาจ้างร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไปจนถึงปี 2585 สมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อสัญญาก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปรวมทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนตามหลักการจัดทำสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะ