แกนนำเกษตรกร ลั่น เลื่อนจ่ายจนกว่า “บัตรสีชมพู” จะได้เข้าร่วม "ประกันรายได้ยางพารา"

26 พ.ย. 2563 | 04:55 น.

“ประกันรายได้ยางพารา” วุ่น แกนนำเกษตรกร เตะเบรก กยท.-ธ.ก.ส.เลื่อนจ่ายเงินชดเชย "ประกันราคายางพารา" งวด1   จนกว่าสำนักงบฯ จะไฟเขียวบัตรสีชมพูจะได้ร่วมวงประกันรายได้ ชี้ได้ต้องได้ทั้งหมด เราไม่ทิ้งกัน

ความคืบหน้า “เงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง” ปี 2 งวด1 มีปัญหาหลังจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง  ได้เขียนเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563  มีข้อความว่า การใช้จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย หรือพื้นที่ทางหน่วยงานราชการของรัฐอนุญาต หรือยินยอมให้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตรเท่านั้น เป็นเหตุให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำให้ไม่กล้าที่จะจ่ายเงินแล้ว ถ้าจ่ายแล้วจะผิดหรือไม่ กับคนที่มีบัตรสีชมพู (ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์) จนทำให้ในที่สุด นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จำเป็นที่ต้องเลื่อนจ่ายออกไปก่อน 2-3 วัน จากกำหนดเดิมที่จะจ่ายในวันที่ 26 พ.ย.นี้ ล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหว อย่างต่อเนื่อง

 

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ และกรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่2 กล่าวว่า  เมื่อสำนักงบประมาณ ตั้งการ์ดมาอย่างนี้ ทางตัวแทนเครือข่ายฯ และเกษตรกร ทั้งหมด 4 คน ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่2 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563  ได้มีการเสนอต่อหน้าปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะไม่ขอรับเงินจากรัฐบาลใดใดทั้งสิ้น ถ้าไม่จ่ายคุณสมบัติเกษตรกรตามโครงการระยะที่1 ก็คือ ได้ทั้งบัตรสีเขียวและสีชมพู จะเลือกมาจ่ายเฉพาะบัตรสีเขียว เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ขอรับทั้งหมด

 

เคาะราคายางพารา ปี2 งวด1

 

หรือถ้าจะมีการจ่ายเงินให้กับบัตรสีเขียว ตามที่สำนักงบประมาณ ได้เขียนไว้ ทาง กยท.จะต้องเอาหนังสือรายชื่อไปติดไว้ที่ทำการกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านที่มีสวนยาง หากไปติดแล้ว คนที่เคยได้ในเฟส1 ในส่วนบัตรสีชมพู  จังหวัดหนึ่ง ที่มีการปลูกยาง จังหวัดหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 คนเฉลี่ย 1 ตำบล มีประมาณ 200 คน จากจำนวน 3 แสนคน  แล้ว เกิดไม่พอใจเจ้าหน้าที่ แล้วไป รวมตัวไปกันที่ กยท.จังหวัดนั้น จะทำอย่างไร จะไม่เดือดร้อนหรือ ดังนั้น ผมสรุปว่า ถ้ารัฐจะให้หรือไม่ให้ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วไม่เห็นด้วยที่ สำนักงบประมาณ ไปเขียนคำนิยามไว้ ที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ว่าให้จ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนที่มีบัตรสีเขียวเท่านั้น

 

สวัสดิ์ ลาดปาละ

 

สอดคล้องนายสวัสดิ์ ลาดปาละ กรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)และประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ถ้าไม่ได้ทั้งหมด ก็ไม่ควรได้เลย เนื่องจากทุกคนต้องเสียงเงินเซสส์กิโลกรัมละ 2 บาท จะมากีดกันไม่ได้ เพราะถ้าเกิดปัญหาแบบนี้จะเกิดความแตกแยกในหมู่ชาวสวนยาง

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมว่าควรจะจ่ายพร้อมกันทั้งบัตรสีเขียวและสีชมพู ประกันรายได้ยางพารา เนื่องจากที่ผ่านมาบัตรสีชมพู เสียเปรียบมาตลอดเวลา เพราะ กนย.ที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานในที่ประชุมได้มีมติ อนุมัติเห็นชอบแล้ว ทำไมเงินไม่มี ก็ต้องเตรียมพร้อม ในทีประชุม กนย. สำนักงบประมาณ ก.การคลัง ก็นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทำไมไม่ค้านตรงนั้น มาค้านนอกเวทีทำไม อีกทั้งบัตรสีชมพูก็จ่ายเงินเซสส์เหมือนกัน จะมาบอกว่าจะต้องจ่ายให้ลูกเมียหลวงก่อน แล้วค่อยนำมาจ่ายเมียน้อยทีหลังหรือ ทำไมทำสองมาตรฐาน แยกคน  ดังนั้นผมขอให้ข้าราชการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “Thailand is the Land of compromise”  หรือ “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” มาใช้ในการบริหารโครงการประกันรายได้ในระยะที่2

 

สุรัตน์ เทือกสุบรรณ

 

ขณะที่นายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสุราษฎร์ธานี และรองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ กล่าวว่า ผมคิดว่าโครงการนี้ค่อนข้างล่าช้ามานานแล้ว ถ้ามีปัญหาควรที่จะจ่ายสีเขียวก่อน แล้วค่อยจ่ายบัตรสีชมพู ตามหลังมาก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่ผู้ใหญ่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กด่วน เลื่อนจ่าย “เงินประกันรายได้ยางพารา”

​​​​​​ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด1 ล่าสุด

สำนักงบฯ เบรก “บัตรสีชมพู” เข้าร่วมวงประกันรายได้ยาง ปี2