“มะพร้าว” ได้เห็นแน่ลูกละ 37 บาท

24 พ.ย. 2563 | 13:20 น.

แล้งทุบมะพร้าว ผลผลิตวูบกว่า 70% ดันราคาพุ่ง ลูกละ 25 บาท คาดถึง 37 บาท แน่ แกนนำมะพร้าว ให้คะแนนรัฐบาลแก้ปัญหา 6 ปี สอบตก ผวาปลายปี64 ราคาร่วง หลังนโยบายเอื้อพ่อค้านำเข้า

พงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์

 

นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  สรุปสถานการณ์มะพร้าวในการบริหารงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา เป็นเวลา 6 ปี ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนมะพร้าว ได้เพียง 2 เรื่อง1. มะพร้าวเป็นสินค้าควบคุม 2. ขึ้นได้ 2 ท่าเรือ ซึ่งถือว่าน้อยมากยังมีปัญหาอีกมากที่ยังไม่ได้แก้ไข กลุ่มทุน จะทุบราคามะพร้าวให้ตกต่ำ 5 ปี 1 ครั้ง และคาดการณ์ว่ารอบของการทุบราคาในช่วงปลายปี2564-2565 จะทำให้พี่น้องชาวสวนมะพร้าวเดือดร้อน อีกครั้ง การให้คะแนนถือว่า “สอบตก”

 

“สถานการณ์ราคามะพร้าว อยู่ที่ลูกละ 25 บาท คาดการณ์ว่าราคาจะขยับขึ้นไปที่ 37 บาท/ลูก มีโอกาสแน่ เพราะเพื่อนบ้านแล้ง ไทยก็แล้ง ไม่มีของ และมะพร้าวเพื่อนบ้านก็แพง ของมีน้อย ปัจจุบันผลผลิตในประเทศเหลือแค่ประมาณ 30% ต่อให้มะพร้าวลูกละ 50 บาท ก็ไม่มีของ ดังนั้น เกษตรกรจะต้องปรับตัวลงทุนเพิ่มจะทำอย่างไรเพื่อให้มีหลบผลผลิตออกมาในช่วงที่ผลผลิตน้อย อาจจะต้องทำสระน้ำ”

 

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบฯได้สรุปประเด็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันจับมือกันต่อสู้เรียกร้องต่อไป ทั้งหมด 10 ข้อ ได้แก่  1. ก่อนที่จะมีการนำเข้า ต้องเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่อำเภอที่ปลูกมะพร้าว2. ตัวแทนมาจากชาวสวนมะพร้าวจริงอำเภอละ 2 คนสัดส่วนเท่าเทียมกันในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการมะพร้าวและคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช 2. ผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชประจำถิ่น ซึ่งจะเข้าครม.ผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ มีการควบคุมดูแลให้ราคาเกษตรกรขายไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อลูก เพิ่มงานวิจัยเกี่ยวกับมะพร้าว และส่งเสริมให้มีงานแปรรูปมะพร้าวในพื้นที่ปลูกมะพร้าว 3.หนอนหัวดำ ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือให้ทางการ 20 พ.ย.2562 ให้ออกกฎหมายบังคับใช้รายที่เจ้าหน้าที่เตือนแล้วไม่รักษาภายใน 1 เดือน มีบทลงโทษปรับ ทำลาย คิดค่าเสียหาย เจ้าหน้าที่ต้องสำรวจ แจ้งรายงานต่อกระทรวงพื้นที่ไหนที่มีการระบาดของหนอนหัวดำถ้าปกปิดถือว่ามีความบกพร่องต่อหน้าที่

4. พื้นที่เพาะปลูก การอ่านภาพถ่ายดาวเทียม ทับสะแก  ของเดิมมีพื้นที่ 140,000 ไร่ อ่านภาพดาวเทียมมีพื้นที่ 135,568ไร่ มีพื้นที่เพิ่มขึ้น -4,432 ไร่ บางสะพาน ของเดิม 160,000 ไร่ ของใหม่ 95,765 ไร่ ลดลง 64,235 ไร่ ทั้งประเทศ ของเดิม 1,299,799 ไร่ ของใหม่ 828,614 ไร่ ลดลงไป 471,185 ไร่ การอ่านภาพถ่ายดาวเทียม ทำไมบางสะพานพื้นที่ลด ขาดการมีส่วนร่วม 5.การนำเข้าน้ำกะทิปี 62 จำนวน 40 ล้าน ลิตรไม่จำกัดจำนวน ไม่เสียภาษี อ้างนอกกรอบ WTO ข้อเสนอก็คือ จำกัด ควบคุม  จะต้องนำไปหักออกจากมะพร้าวที่ขาดของแต่ละปี ระบุข้างกล่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้ชัดเจนว่ามาจากประเทศไหน 6. การงดการนำเข้าในเดือนที่มะพร้าวไทยดกทั้งในกรอบและนอกกรอบ WTO/AFTA ไม่มีการควบคุม ดกมากยิ่งเข้ามาก - งดนำเข้าในเดือนที่มะพร้าวไทยดก ผลผลิตมาก ทุกกรอบ มี.ค.,เม.ย.,พ.ค.,มิ.ย.,ก.ค.  ถ้าขาดแคลนกระทบโรงงานราคาสูงมากผู้บริโภคเดือดร้อนต้องเปิดเวทีพูดคุยกับชาวสวนมะพร้าวทุกอำเภอจนได้ข้อสรุป

 

7.การจับกุมมะพร้าวและรถบรรทุกมะพร้าวผิดกฎหมาย ปรับปล่อยรถไป นำไปขายต่อ เผา เป็นบางครั้ง ข้อเสนอมะพร้าวต้องนำไปฝัง เผาทำลายทุกครั้ง  รถที่บรรทุกมะพร้าวผิดกฎหมายต้องถูกอายัดยึดตกเป็นของแผ่นดิน  บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้ามะพร้าวที่ไม่ถูกต้องให้ใช้กฎหมายฟอกเงิน 8.ความต้องการของเดิมมีพื้นที่ 1,010,000 ไร่ ต้องนำเข้า 200,000 ตัน ของใหม่ พื้นที่ลด 800,000 ไร่ ต้องนำเข้า 335,926 ตัน ข้อเสนอต้องใช้กลไกราคาภายในประเทศควบคุมด้วย ถ้าราคา 15 บาท หยุดการนำเข้าถ้าสูงกว่าก็ทยอยเข้ามา

“มะพร้าว” ได้เห็นแน่ลูกละ 37 บาท

 

9.ใบกำกับการเคลื่อนย้ายมะพร้าว ออกเป็นบางจังหวัด น้ำหนักมากเกิน 7,000 กก.ควบคุมได้ 1 ปี ให้ออกเป็นกฎกระทรวงควบคุม  ครอบคลุมทั้งประเทศ นน.ต้องบรรทุกมะพร้าวไม่เกิน 4,000 กก.และใช้บังคับตลอดไป 10. กฎระเบียบการนำเข้าขอเสนอแก้ใหม่แล้วใช้ทั้ง WTO/AFTA  ผู้นำเข้าต้องมีใบประกอบการณ์โรงงาน(รง.4) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตกะทิหรือเพื่อส่งออกตามที่ได้รับอนุญาตนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี จะต้องมีใบ(รง.5) และยังดำเนินกิจการอยู่  ห้ามนิติบุคคล/บุคคลที่มิได้ดำเนินกิจการผลิตกะทิและหรือน้ำมันมะพร้าวเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศนำเข้ามะพร้าวผล/น้ำกะทิเข้มข้นและน้ำกะทิแช่แข็งนำเข้ามาโดยเด็ดขาด

 

ให้ผู้นำเข้ามะพร้าวนำมาใช้ในกิจการในโรงงานของตนเองเท่านั้นปริมาณการนำเข้าต้องไม่เกินอัตราการผลิตที่ขออนุญาตใช้ที่(รง.4)เท่านั้น  ห้ามผู้นำเข้ามะพร้าวทุกประเภทในโควต้าและนอกกรอบ AFTA/WTO นำไปเคลื่อนย้าย จำหน่าย จ่าย โอน ไปยังผู้อื่นโดยเด็ดขาด หากกระทำผิดให้กำหนดโทษตัดใบอนุญาต 5 ปีโดยให้ประกาศเป็นกฎกระทรวง  ห้ามผู้นำเข้ามะพร้าวไปกะเทาะ และผิวนอกโรงงานทั้งในกรอบและนอกกรอบ AFTA/WTO โดยเด็ดขาด

 

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า  จำนวนมะพร้าวที่นำเข้าทั้งหมดให้นับรวมมะพร้าวผล เนื้อมะพร้าวสด แห้ง กะทิ และน้ำมันแล้วนำมาหักออกจากส่วนที่ต้องการใช้ภายในประเทศด้วย ในส่วนที่ขาดจากความต้องการใช้ภายในประเทศ ทั้งหมดนี้ เราชาวสวนมะพร้าวต้องเรียนรู้และจับมือสู้ไปด้วยกัน ถ้าไม่เช่นนั้นในปี 2565 ต้องถูกทุบราคาตกต่ำอีกรอบอย่างแน่นอน จะปลุกพลังมวลชนสัญจรในจังหวัดที่มีมะพร้าว เพื่อสร้างการรับรู้และเกาะภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้ราคามะพร้าวตกต่ำ