กระทรวงอุตสาหกรรมหนุนพัฒนาบุคลากรดันรถ “EV”

24 พ.ย. 2563 | 09:25 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมผนึก อว. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาขับเคลื่อนรถ “อีวี”

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV)ในปี 2573 จำนวน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน และบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ             

ทั้งนี้  จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทักษะฝีมือและวิชาการขั้นสูง ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนกำหนดกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างกำลังคนทักษะฝีมือและหรือวิชาการขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

,2.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการให้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการหรือกิจการที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

กระทรวงอุตสาหกรรมหนุนพัฒนาบุคลากรดันรถ “EV”

และ3.เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม กลางแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคการศึกษา และเก็บข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลกลางด้านจำนวนกำลังคน และช่องว่างทางทักษะของกำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า หลังจากนี้ อว. จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้รู้ถึงความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ว่าต้องการสาขาใดบ้าง และมีจำนวนเท่าไหร่  เพื่อนำไปวางแผนร่วมกับมหาวิทยาลับ และสถาบันวิจับทั่วประเทศ ในการผลิตบุคลากรเข้ามารองรับให้เพียงพอ และมีทักษะตรงกับความต้องการ ในเบื้องต้นคาดว่ามีความต้องการอีกหลายหมื่นคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บีโอไอ” หนุนไทยขึ้นแท่นฐานผลิต “EV”

"ปตท.” มุ่งธุรกิจ “EV” พร้อมลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่และรถยนต์ไฟฟ้า

“ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะ อีวี มีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะไม่เหมือนกับการผลิตยานยนต์แบบเดิม แต่ไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์มายาวนาน ทำให้สามารถต่อยอดจากทักษะความรู้เดิมไปสู่ทักษะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ยาก”

นอกจากนี้ ยังได้เร่งวิจัยพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ภายในประเทศ เช่น การต่อยอดอุตสาหกรรมมอเตอร์ไปสู่การผลิตมอเตอร์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้พลังงานลดลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมทั้งร่วมวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อให้ผลงานการวิจัยนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมทั้งจะใช้อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตลอดจนเครือข่ายศูนย์วิจัยทั่วประเทศ เข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูล การใช้ห้องปฏิบัติการเครื่องมืออุปกรณ์ โรงงานต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรมหนุนพัฒนาบุคลากรดันรถ “EV”

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายส่วนต้องเปลี่ยนไปให้ตัวรถมีน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และระยะทางวิ่ง โดยใช้เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ วิจัยวัสดุใหม่ ๆ และใช้อลูมิเนียมมาเป็นส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดปัญหาการเชื่อมต่อวัสดุใหม่เข้ากับวัสดุเดิม ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการประกอบแบบใหม่ โดย สวทช. จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้

อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศไทยควรจะผลักดันไปสู่การผลิตรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพราะผู้ประกอบการชาวไทยมีความเชี่ยวชาญในสิ่งเหล่านี้ สามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองเข้าสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งหากผู้บริโภคในกลุ่มนี้เข้ามาใช้สินค้าของไทยเพียง 10% ก็มีปริมาณเพียงพอในการผลิต และมีกำลังในการต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากเกิดฐานการผลิตในสินค้ากลุ่มนี้ ก็จะทำให้มีปริมาณการใช้แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มากพอในการตั้งโรงงานผลิตขนาดใหญ่ และต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นสูงได้ไม่ยาก

“อุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซด์ รถบัส และเรือไฟฟ้า เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยังเปิดกว้างสำหรับแบรนด์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะไทยมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มาก่อนแล้ว และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าในกลุ่มนี้ประเทศไทยสามารถทำได้ โดยในขณะนี้ก็มีผู้ประกอบการไทยหลายรายได้เข้ามาผลิตออกสู่ตลาดแล้ว หากได้รับการสนับสนุนเพิ่มยอดซื้อในประเทศ ก็จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้ ซึ่งหากไทยมีฐานในส่วนนี้เข้มแข็งก็ต่อยอดไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ของคนไทยได้”

นอกจากนี้ สวทช. ได้มีบริการด้านทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงโบกี้รถไฟฟ้า รวมทั้งยังได้วิจัยเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ได้ขยายจากรถกอล์ฟไฟฟ้าไปคู่รถยนต์ไฟฟ้าขนาด 7 ที่นั่ง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ สามารถเข้ามาต่อยอดให้กับภาคเอกชนไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เองในอนาคต ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาแพง แต่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ๆ ได้ช่วยลดราคาลงได้มาก คาดว่าในอีก 3-5 ปี ราคาแบตเตอรี่จะลดลงเหลือ 2 ใน 3 ของปัจจุบัน จะทำให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดแพร่หลายมากขึ้น หากไทยเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะทำให้ไทยพัฒนาไปสู่ผู้ผลิตบานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในอนาคตได้