เอกชน จี้รัฐเจรจา 3 FTAใหญ่ หวังแต้มต่อดึงทุนนอก

22 พ.ย. 2563 | 02:18 น.

บิ๊กสภาหอฯ-สภาอุตฯจี้รัฐบาลเร่งเตรียมพร้อมเจรจา 3 เอฟทีเอใหญ่ เพิ่มแต้มต่อแข่งขัน ตีกันทุน FDI ย้ายฐาน ตะลึงตัวเลข FDI เวียดนามโตกว่าไทย 2 เท่า บีโอไอเร่งแผนดันโค้งสุดท้ายดึงทุน 8 ชาติไหลเข้า มั่นใจปีหน้าฟื้น ขณะปีนี้ขอยอดแค่ 3 แสนล้าน

ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้นอกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา กระทบความเชื่อมั่นของต่างชาติที่จะมาทำการค้า การลงทุนกับไทยแล้ว ทุกฝ่ายยังมีความกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายนล่าสุดผลกระทบจากโควิดมีผลทำให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้สะดวก รวมถึงไทยขาดแต้มต่อในการแข่งขันจากไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ลดลงอย่างน่าใจหาย

 

FDI ไทยพ่ายเวียดนาม

 

ช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ระบุ FDI ขอรับการส่งเสริมรวม 657 โครงการ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% ขณะที่สำนักงานสถิติเวียดนามรายงาน FDI ในเวียดนามช่วง 10 เดือนแรกปี 2563 รวม 2,100 โครงการใหม่ เงินลงทุนจดทะเบียน 11,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 361,460 ล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) มากกว่าไทยกว่า 2  เท่าตัว ผลพวงจากหลายปัจจัย อาทิ เวียดนามมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี มีเอฟทีเอ 14 ฉบับ กับ 53 ประเทศ (ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ) ช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันส่งออกของผู้ลงทุน การเมืองมีเสถียรภาพสร้างความเชื่อมั่น แรงงานรองรับมีมาก และค่าจ้างแรงงานยังต่ำกว่าไทย เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 เดือนใช้สิทธิFTA-GSP ส่งออกอาหาร โตต่อเนื่อง

FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

เอกชน จี้รัฐเจรจา 3 FTAใหญ่ หวังแต้มต่อดึงทุนนอก

จี้เร่ง 3 FTA ใหญ่

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเอฟทีเอเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยมองว่าจะลงทุนในประเทศไหนดีที่ช่วยเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันการทำเอฟทีเอของไทยเมื่อเทียบกับเวียดนาม ไทยมีคู่ค้าที่มีเอฟทีเอระหว่างกันน้อยกว่าเวียดนาม ส่งผลให้เวลานี้ทุนจากจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนด้านแรงงานและต้นทุนการผลิตในจีนเริ่มสูงขึ้นได้ย้ายฐานเข้าเวียดนามมากกว่าไทย ขณะที่ญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทยมาต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มจะย้ายหรือขยายการผลิตไปยังเวียดนามเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจาและเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งตนก็เห็นว่าไทยควรเข้าร่วม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ด้านการผลิต การค้า การลงทุนแบบไร้รอยต่อ

 

เอกชน จี้รัฐเจรจา 3 FTAใหญ่ หวังแต้มต่อดึงทุนนอก

                                     กลินท์  สารสิน

 

“รัฐบาลต้องเร่งสร้างชัดเจนว่าจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยังคงลงทุนและขยายฐานในไทย เพราะหากรอให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงนี้ก่อน เขามีอำนาจต่อรองสูง อาจมีการขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของความตกลงที่สร้างความได้เปรียบของสหรัฐฯ จะทำให้เราเจรจาและขอผ่อนปรนในเรื่องต่างๆ ยากขึ้น นอกจากนี้ต้องเร่งเตรียมความพร้อมการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) และไทย-อังกฤษ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น”

 

สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่า ไทยควรเร่งและเตรียมความพร้อมเจรจาในทั้ง 3 เอฟทีเอข้างต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่เวลานี้นักลงทุนยังเดินทางเข้าไทยไม่สะดวกจากโควิด บีโอไอควรให้ข้อมูล และออกอีเวนต์ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพให้สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศได้มากขึ้น

BOI โชว์แผนดันยอด

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จากผลกระทบโควิดทำให้บีโอไอไม่สามารถจัดโรดโชว์ เพื่อดึงการลงทุนในต่างประเทศได้ จึงได้ปรับกิจกรรมสัมมนาชักจูงการลงทุนเป็นแบบออนไลน์(Webinar)ทั้งหมด รวมกว่า 80 ครั้งในปีนี้ โดยจัดร่วมกับองค์กรพันธมิตรและหอการค้าของแต่ละประเทศ รวมทั้งหน่วยงานฝั่งไทยเช่น สำนักงานอีอีซี สวทช. และกนอ. โดยช่วงปลายปีนี้มีแผนจะจัด Webinar สำหรับนักลงทุนจากเกาหลีใต้ (25 พ.ย.) เยอรมนี (24-25 พ.ย.) ฟินแลนด์ (26 พ.ย.) ญี่ปุ่น(9 ธ.ค.) จีน ฮ่องกง และหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย (ช่วงธ.ค.หรือต้น ม.ค.64) และไต้หวัน และอินเดีย (ช่วงปลายธ.ค.หรือต้นม.ค. 64 อยู่ระหว่างประสานงาน) ทั้งนี้จากที่ไทยรับมือโควิดได้ดี และจะมีการผ่อนคลายการเข้า-ออกประเทศของกลุ่มนักธุรกิจมากขึ้น เชื่อว่าจะได้เห็นการลงทุนของรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

เอกชน จี้รัฐเจรจา 3 FTAใหญ่ หวังแต้มต่อดึงทุนนอก

                        นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

“จำนวนผู้เข้าร่วม Webinar เราเชิญร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร พยายามให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นแบบออนไลน์ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ เป้า FDI ปีนี้ไม่มีเป็นการเฉพาะ แต่บีโอไอคาดว่ายอดคำขอรับการส่งเสริมในปีนี้ทั้งไทยและต่างชาติรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท” (ปี 2562 ไทยและต่างชาติขอรับส่งเสริม 1,624 โครงการ มูลค่าลงทุน 756,104 ล้านบาท)

 

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3629 วันที่ 22-25 พฤศจิกายน  พ.ศ.2563