ส่งออกเดี้ยง สับปะรดแพง ห่วงปี 64 ราคาดิ่งเหว

21 พ.ย. 2563 | 07:00 น.

โรงงานสับปะรดโอดวัตถุดิบแพง ส่งออกเดี้ยง เทรด เดอร์บ่นอุบ โควิดทุบเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อวูบอียูตัดจีเอสพีเสียเปรียบคู่แข่งขัน สภาเกษตรกร เผยโรงงานหยุดผลิดกว่า 50% อ้อนรัฐช่วยหาตลาดใหม่ ห่วงปี 64  ราคาดิ่งเหว

ปี 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ผลผลิตสับปะรดโรงงานจะมีประมาณ 1.39 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ที่มีผลผลิต 1.82 ล้านตัน จากผลกระทบภัยแล้ง และจากราคาสับปะรดตกต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรหันปลูกพืชอื่น ครั้นพอราคาดีก็ปรับตัวไม่ทัน เพราะการปลูกกว่าให้ผลผลิตต้องใช้เวลาถึง 15 เดือน

 

วิรัช ปิยพรไพบูลย์

 

นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์สับปะรดปี 2563 ว่า ผลผลิตมีน้อย จากปกติทุกปีในช่วงนี้จะมีผลผลิตทั่วประเทศออกมาประมาณ 7,000-8,000 ตันต่อวัน  แต่ปัจจุบันมีเพียง 3,000-4,000 ตันต่อวัน ลดลง 30-40% ขณะโรงงานแปรรูปก็ไม่ได้แย่งซื้อ จากตลาดส่งออกยังไม่ดี พอขายไม่ได้ก็หยุดผลิต ดังนั้นคงต้องพึ่งรัฐบาลให้ช่วยเปิดตลาดใหม่ ๆ

 

“ปัจจุบันโรงงานสับปะรดยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศช่วงโควิด และไทยยังไม่เปิดให้เข้ามา แต่ยังโชคดีที่ได้แรงงานไทยมุสลิมจากภาคใต้เข้ามาช่วยทำให้โรงงานสามารถที่จะเดินเครื่องจักรได้ ส่วนต่างประเทศยอดขายนิ่งมาก ลูกค้าที่เป็นเทรดเดอร์แจ้งว่า เชลฟ์วางขายสินค้าในห้างฯขายของได้น้อยลงมาก จากผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ และไม่ได้ออกไปจับจ่ายมากนักช่วงโควิดจะซื้อของเท่าที่จำเป็นบริโภคเท่านั้น ซึ่งก็ยังแอบหวังว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น”

ส่งออกเดี้ยง สับปะรดแพง ห่วงปี 64 ราคาดิ่งเหว

 

นายวิรัช กล่าวว่า ราคาสับปะรดป้อนโรงงานที่เกษตรกรขายได้ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 8-8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคานี้เกษตรกรอยู่ได้สบาย และโรงงานก็พอรับได้ จากก่อนหน้านี้ราคาสับปะรดอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. โรงงานขาดทุน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดของไทยในปีนี้ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คู่ค้านำเข้าลดลง ปัญหาสินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP (ในตลาดใหญ่คือสหภาพยุโรป) ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน คาดปีนี้จะส่งออกลดลงแน่นอน ส่วนปีหน้ายังคาดการณ์ได้ยาก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รง.แปรรูปแบกต้นทุนอ่วมภัยแล้งดันสับปะรดพุ่ง 15 บาท/กก.

ราคาผัก-ผลไม้แบกต้นทุนอ่วม

 

อานนท์ โลดทนงค์

 

ด้านนายอานนท์ โลดทนงค์ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเลขาธิการสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย กล่าวว่า ปัจจัยลบในเวลานี้คือ โรงงานยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต เพราะคู่ค้ายังไม่สามารถเดินทางเข้าไทยเพื่อดูสินค้าได้ ประกอบตลาดส่งออกมียอดขายที่ลดลงมาก หลายโรงงานในขณะนี้ลดกำลังการผลิตลงไปกว่า 50% มีการรับซื้อวัตถุดิบน้อยลง ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 14-15 บาทต่อ กก.  ผลผลิตสับปะรดปกติจะเริ่มออกมามากในช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน แต่ปีนี้เทียบกับปีก่อนหน้า ผลผลิตออกมาน้อยมาก ทราบว่าโรงงานมีปัญหาเรื่องการตลาดและแรงงาน ทำให้ต้องลดกำลังผลิตลงกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้เห็นชะตาชีวิตสับปะรดว่ามีแนวโน้มราคาตกต่ำอย่างแน่นอน แต่ถ้าตลาดเปิดสามารถดันส่งออกขายได้ในระดับหนึ่ง สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น แต่ก็จะยังมีผลผลิตส่วนหนึ่งเหลือตกอยู่ในประเทศ

 

นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาก็ได้มีการประชุมในส่วนของกลุ่มเกษตรกร ทั้งในส่วนของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอปัญหาให้กับภาครัฐ ได้เร่งแก้ไข จากปกติไทยเคยส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดได้เฉลี่ยปีหนึ่งสูงสุดประมาณ 2 ล้านตันเศษ ซึ่งโอกาสจะดีเหมือนเดิมคงยาก คาดปีนี้การส่งออกจะเหลือประมาณ 1 ล้านตันเศษ จากตลาดส่งออกของผู้ซื้อหดตัวลง ประกอบกับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคอสตาริกาที่เป็นคู่แข่งสำคัญในสินค้าน้ำสับปะรดเข้ามาแทนที่ตลาดไทยได้มากขึ้น

 

“ราคาสับปะรดในปีที่ผ่านมา ช่วงขาดแคลนโรงงานแย่งซื้อก็ทำให้ราคาสูงขึ้น พอราคาสูงขึ้นก็ไม่ได้ไปสอดคล้องกับราคาตลาด จึงทำตลาดส่งออกของเราถูกคู่แข่งแย่งไป ทั้งฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ต้นทุนถูกกว่าไทย (ฟิลิปปินส์ยังได้จีเอสพีจากอียูภาษีนำเข้า 0% อินโด นีเซียเสียภาษี 15% ไทยถูกอียูตัดจีเอสพีเสียภาษีนำเข้า 18.5%)”

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,628 หน้า 9วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2563