ไขข้อข้องใจ ทำไม!! กทม.เตรียมหยุดเดินรถไฟฟ้า BTS “สายสีเขียว” ส่วนต่อขยาย

18 พ.ย. 2563 | 05:54 น.

กทม.โอดแบกรับหนี้ BTS กว่า 8,000 ล้านบาท หลังBTS ทวงค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า เผยสาเหตุหยุดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต หวังต่ออายุสัญญาสัมปทานแลกหนี้แสนล้าน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC ผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ทำหนังสือทวงถามค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ซึ่งเริ่มทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท หาก กทม. ไม่จ่ายเงิน บริษัทแจ้งว่าอาจจำเป็นต้องหยุดวิ่งให้บริการ เรายอมรับว่า กทม. ไม่มีเงินจ่ายและต้องขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมอบให้ กทม.รับผิดชอบเดินรถ อีกทั้งการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เก็บค่าโดยสาร

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวต่อว่า กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ผ่านมาบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้รับสัมปทานช่วงสถานีแบริ่ง-สยาม ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการเดินหน้าส่วนต่อขยายจากสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปูและจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ทำให้เกิดข้อทักท้วงของบีทีเอสและ รฟม.

 

“ที่ผ่านมาเราได้มีการเจรจากับบีทีเอส ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ยอม เพราะหากเดินทางจากสถานีสยาม-แบริ่ง ค่าโดยสารอยู่ที่ 59 บาทแล้ว เพิ่มอีก 6 บาท เขาอยู่ไม่ได้ซึ่งทางเราก็ไม่ยอมเหมือนกัน เพราะค่าโดยสารแพงจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากเจราจาตกลงแล้งควรยึดเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้

สำหรับสาเหตุการต่ออายุสัมปทานฯ มาจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตจากรฟม. ทำให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทาง ทำให้ต้องรับภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท จากการโอนโครงการรวมถึงค่าบริหารจัดการเดินรถไปด้วย ทำให้กทม.มีการเจรจากับบีทีเอสด้วยการต่ออายุสัญญาสัมปทาน 30 ปีแลกกับบีทีเอสรับภาระหนี้มูลค่าแสนล้านบาทแทนกทม. และเงื่อนไขค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท