วิบากกรรม ‘รฟม.-บอร์ด มาตรา36

11 พ.ย. 2563 | 14:30 น.

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลา การใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.28 แสนล้าน รฟม. ให้นำ เทคนิคพิจารณาร่วมซองราคาแทน เกณฑ์ทีโออาร์เก่า ที่ชี้ขาดกันที่ซองราคา 100%

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลา การใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.28 แสนล้านบาทของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ให้นำเทคนิคพิจารณาร่วมซองราคาแทน เกณฑ์ทีโออาร์เก่า ที่ชี้ขาดกันที่ซองราคา 100% แต่ศาลไม่มีข้อห้ามขั้นตอนการเปิดให้เอกชนยื่นซองร่วมลงทุนตามแผน (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563)

 

อย่างไรก็ตามแม้กระบวนการ จะเดินหน้าได้แต่การ เปิดซองต้องรอ คำพิพากษาศาลปกครองกลางหลังรฟม.ยื่นอุทธรณ์สวนขอทุเลา กรณีกลุ่มบีทีเอสยื่นฟ้องคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. ออกมายืนยันว่าเป็นไปตามสิทธิ์ทางคดีเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง

 

ขณะเดียวกัน การประมูลยังต้องทำไปตามขั้นตอน เนื่องจากคดีหลักคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาอีกนาน ซึ่งเป็นการดำเนินการในแนวทางเดียวกับโครงการอื่นที่มีประเด็นฟ้องร้อง จะไม่รอผลของคดีหลัก หากมีการรับซองและจะมีการพิจารณาด้านคุณสมบัติ (ซอง 1) และประกาศผลผู้ผ่านด้านคุณสมบัติ และเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดข้อเสนอซอง 2 (เทคนิค) และซอง 3 (ราคา) แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งที่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ออกมา ตามหลัก คณะกรรมการมาตรา 36 จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้ใช้เกณฑ์เดิม

วิบากกรรม ‘รฟม.-บอร์ด มาตรา36

ขณะตามข้อเท็จจริง เรื่องยังคาราคาซัง ศาลปกครองกลางยังไม่สามารถชี้ขาดได้เนื่องจาก รฟม. ยังไม่ หนังสือยื่นคัดค้านไปยังศาลปกครองกลาง จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุ ความล่าช้า ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่าอาจประวิงเวลา และอาจเป็นไปได้ว่าเพราะต้องหาเอกสารหลักฐาน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล อาจนำมาซึ่งวิบากกรรมที่รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ต้อง เผชิญทั้งต่อสังคมปมไม่ชอบมาพากล ต่างระดมให้ตรวจสอบ และต้องหันกลับมาใช้หลักเกณฑ์ทีโออาร์เดิม ก็เป็นได้แต่อีกมุมหนึ่ง

 

รฟม.สามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้ง หากผลพิพากษาให้บีทีเอสเป็นฝ่ายชนะ สุดท้าย คำชี้ขาดของศาลปกครองสุงสุดซึ่งสามารถ พลิกได้เสมอหรือไปคนละทิศละทางกับศาลปกครองกลางเฉกเช่นหนังตัวอย่างกรณีสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ศาลปกครองสูงสุด เห็นต่างจากการชี้ขาดของศาลปกครองกลางว่า การยื่นซองประมูลเลยกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขทีโออาร์สามารถกระทำได้

 

เช่นเดียวกับกรณีสายสีส้ม ที่ต้องเดาใจศาลปกครองว่าคำพิพากษาจะออกมาเช่นใดแต่มองว่าไม่ใช่คำชี้ขาดจะซํ้ารอยกันเสมอไป  เพราะหากย้อนรอยคำสั่งทุเลาศาลปกครองกลาง ที่ออกมาน่าจะชัดเจนแล้ว ที่ว่าการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยน แปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

เนื่องจากศาลเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะกระทำได้แต่ต้องไม่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก มีข้อเรียกร้องจากผู้ซื้อซองอีกรายที่มีสิทธิที่จะเข้ามาแข่งขันการเสนอราคา

 

ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนนและคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจกลายเป็นวิบากกรรมตามมาอย่างไม่รู้จบนั้นเอง

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,626 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563