เปิดเล่ห์ 5 เสือ ทุบราคา “ยางก้อนถ้วย” ร่วง

29 ตุลาคม 2563

“อีสาน-เหนือ” ระงม เปิดเล่ห์ 5 เสือ ทุบราคา “ยางก้อนถ้วย” กดค่าดีอาร์ซี ยับ “เครือข่ายฯ อีสาน” แฉ ทั้งจำกัดการรับซื้อ เตะถ่วงเวลา ด้านเครือข่ายภาคเหนือ แนะทางออกชะลอขายยาง-ทำยางสด แต่ชาวสวนเปลี่ยนพฤติกรรมยาก

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ และประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันที่ 29 ต.ค.63 ราคา "ยางก้อนถ้วย" ดีอาร์ซี 100%  เปิดขายอยู่ที่ 47 บาท/กก. โรงงานก็รับซื้ออยู่ที่ 45 บาท/กก. ซึ่งค่าดีอาร์ซี ไม่ยอมขึ้น ก่อนหน้านั้นใช้รถบรรทุก นำยางก้อนถ้วยไปส่งโรงงานคืนเดียวได้ขายแล้ว วันนี้ต้องรอจองคิว 2-3 คืน ถึงได้นำยางลงไปขาย ความจริงรถที่ขนบรรทุกนำ "ยางก้อนถ้วย" ไปส่ง เท่าเดิม แต่เป็นเทคนิคลูกเล่นโรงงาน 5 เสือ อ้างว่าจะต้องใช้เวลาล้างถังอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถึงจะรับน้ำยางใหม่ได้ ต่างจากเมื่อก่อนไปตอนเช้าต่อคิว บ่าย2 ก็เสร็จเรียบร้อย ภาษาอีสานเรียกว่า “เตะหน่วง”  และเงินก็ได้เพิ่มไม่มากเท่าไร ส่วน "น้ำยางสด"  นอกจากนี้ยังมีการปรับเที่ยวจากเดิม รับ วันละ 50 เที่ยว  แต่ช่วงนี้ขอปรับลดลงเหลือแค่วันละ 30 เที่ยว อ้างไม่มีพื้นที่เก็บยาง

 

“โรงงานก็ฉลาดเกรงว่ารีบซื้อไปก็จะขาดทุน เพราะราคายางก็ขึ้นไปเรื่อย ถ้าซื้อมากวันนี้ พรุ่งนี้ราคายางขึ้นก็จะขาดทุน ซึ่งอีสานจะโดนหนักเลยทั้ง "น้ำยางสด" ราคา กก.ละ 70 บาท/กก. แต่โรงงานจะรับซื้อแค่ 68 บาท/กก. จะต่างจากภาคใต้ เพราะทางโรงงานอ้างว่าจะต้องเสียค่าขนส่ง จะต่างจากภาคใต้ที่โรงงานมีมากจะแข่งแย่งกันซื้อ มีโรงงานภาคใต้ก็วิ่งมาซื้อยางอีสานแล้ว รวมทั้ง "ยางก้อนถ้วย"  ซึ่งการซื้อแตกต่างจากราคาประกาศ ก็รู้สึกน้อยใจ

 

นายเขศักดิ์ กล่าวถึง กระบวนการผลิต ยางก้อนถ้วย ยกตัวอย่าง วันนี้ (29 ต.ค.63) รับซื้อน้ำยางสด อยู่ที่  17-18 บาท/กก. ส่วนน้ำยางสด ตามประกาศ กก.ละ 70 บาท/กก. คือ ดีอาร์ซี 100% ปกติชาวสวนจะมาขายดีอาร์ซี อยู่ที่ 33% บางคนก็ขาย 40% ซึ่งวิธีการตีค่าดีอาร์ซี ของน้ำยางสด เพื่อที่คำนวณราคารับซื้อ ก็จะใช้วิธีตักถังน้ำยางของเกษตรกรที่เกษตรกรรวบรวมมา แล้วนำไปอบไม่โคเวฟ ใช้ความร้อนประมาณ 300 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบประมาณ 5 นาที การตั้งค่าอาจจะตั้งค่าที่ 85 หรือ 87% แล้วแต่ที่จะตกลงกับผู้ค้า เมื่ออบเสร็จ ก็นำไปชั่งตราชั่งตวงทอง ส่วนมากที่จะได้อยู่ประมาณ 30-39% แต่ว่าในช่วงนี้ ดีอาร์ซีจะอยู่ที่ 34-35%  นี่คือหลักการเบื้องต้นของการคำนวณราคาน้ำยางสดตามประกาศราคากลาง กับ ราคาที่ชาวสวนขายได้

 

ทั้งนี้ยางน้ำ 2 กิโลกรัม ผลิตเป็น "ยางก้อนถ้วย" แห้ง 1 กิโลกรัม วันนี้ผมซื้อน้ำยางอยู่ที่ 18 บาท/กก. พ่อค้าซื้อ ยางก้อนถ้วย อยู่ที่ราคา 23 บาท/กก. หมายความว่าผมต้องซื้อน้ำยาง 18x2  คำนวณเป็นเงิน 36 บาท เท่ากับ พ่อค้าไปขายน้ำยางก้อนถ้วยแห้ง ในราคา 23 บาท/กก. ซึ่งจะเห็นว่าราคาห่างกันถึง 13 บาท/กก. ซึ่งพ่อค้าปรับขึ้นราคา หรือ ลงราคาก็ได้

 

เปิดเล่ห์ 5 เสือ ทุบราคา “ยางก้อนถ้วย” ร่วง

 

นายเขศักดิ์ กล่าวว่า ในเมื่อยาง 2 ชนิด ที่รัฐบาล "ประกันรายได้" ทะลุราคาประกันไปแล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลควรที่จะมาเพิ่มรายได้ให้กับคนที่เพิ่มให้กับคนที่ ผลิตยางก้อนถ้วย โดยวิธีลดกำลังการผลิตยางก้อนถ้วยลงให้ไปเป็นยางชนิดอื่นแทน และหาวิธีเปลี่ยนนิสัยคนอีสานกับคนภาคเหนือ เพราะหากไปผลิตอย่างอื่นส่วนใหญ่คิดว่ายุ่งยาก ปัญหาหลักก็คือ วันนี้ในภาคอีสานผู้ประกอบการไม่มี โดยเฉพาะจุดรับซื้อน้ำยางสดหายากมาก จะมีโรงงานแค่จังหวัดละ 1 แห่ง ในจังหวัดนั้น เช่น จังหวัด อุบลราชธานี,นครพนม เป็นต้น ไม่มีทุกจังหวัด หรือแม่ก็เป็นแค่โรงงานขนาดเล็กที่อัตราการซื้อไม่มาก ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพื่อให้เกิดการแข่งขันเช่นเดียวกับภาคใต้  และในจังหวัดของภาคอีสานก็มีแต่รณรงค์ให้ผลิตแต่น้ำยางก้อนถ้วย เพื่อไปผลิตเป็นยางเครปจำนวนมาก

 

“สาเหตุที่ราคายางปรับขึ้น เพราะผลผลิตต่ำ ฝนตก คนยังไม่เปิดกรีดเพราะ "พายุ" เข้าติดต่อกัน แต่ถ้าเมื่อไรพายุหมดแล้ว ก็เข้า เดือนพฤศจิกายน ผลผลิตยางจะออกมาประมาณอีก 1 เท่า ของผลผลิตในวันนี้ ปัจจุบันอีสานยังไม่เปิดกรีด 50% ส่วนแรงงานกรีดยางจะมีปัญหาที่ภาคใต้มากกว่าจะมีแรงงานทั้งอีสานและแรงงานต่างด้าวที่ไปรับจ้างกรีดยาง วันนี้คนอีสานก็กลับมาปลูกยางทำของตัวเอง 5-10 ไร่ กลับมาหมดแล้ว ทำให้แรงงานภาคใต้ไม่มี”

 

ปัจจุบันไทยยังล็อกดาวน์เรื่องแรงงานต่างด้าว อยู่ยังเข้าประเทศไม่ได้ จึงทำให้ภาคใต้ทั้งมีฝนตกพายุเข้า และแรงงานขาด จึงทำให้ผลผลิตในตลาดมีน้อยลง แย่งกันซื้อ ต่างจากภาคเหนือ-อีสาน ผูกขาด โดย 5 เสือ ทำให้เกษตรกรไม่มีอำนาจการต่อรอง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น จึงย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ชดเชยในส่วน 2 ชนิดยางพารา ก็ควรนำงบประมาณมาช่วยน้ำยางก้อนถ้วย ภาคอีสานและภาคเหนือ อย่างไรก็ดีทางเครือข่ายฯ จะมีประชุมปลายเดือน พ.ย. นี้จะปัญหาเหล่านี้รายงานเพื่อทางที่ประชุมรับทราบเพื่อหาหนทางให้หน่วยงานที่รับผิดชอบยางพารา ช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด”

 


 

สวัสดิ์ ลาดปาละ

 

เช่นเดียวกับนายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ  กล่าวว่า ราคา “ยางก้อนถ้วย” ยอมรับว่าเป็นราคาปรับราคาน้อยมาก ไม่ไปตามราคายางแผ่นกับน้ำยางสด ที่ผ่านมาก็ได้พยายามจูงใจให้ชาวสวนยางภาคเหนือหันมาทำราคาน้ำยางสด เพราะได้ราคาที่ดีกว่า ไม่ใช่ไปจมปลักกับ “ยางก้อนถ้วย” ก็ทำสำเร็จได้แค่อำเภอเดียว ส่วนที่เหลือก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะทำแต่น้ำยางก้อนถ้วย เพราะน้ำยางก้อนถ้วยต้องเสียค่ากรดฟอร์มิกเติมเข้าไปอีก จึงทำให้ต้นทุนสูงกว่าราคาน้ำยาง เพราะมีปัญหาเรื่องค่าดีอาร์ซี (DRC)

 

ปัจจุบันการขาย "ยางก้อนถ้วย" ขายดีอาร์ซี 55-58 % ราคาวันนี้ 100% ราคา 48 บาท/กก. ก็นำค่า DRC ไปคำนวณ ตามเปอร์เซ็นต์ จะได้ราคายางก้อนถ้วยที่ชาวสวนขายได้ ซึ่งคุณสุนทร รักษ์รงค์ บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า  การวัดค่า DRC ด้วยตาเปล่าหรือแบบเท้าเหยียบ ไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคายางก้อนถ้วย ที่แตกต่างจากราคายางแผ่นอย่างผิดปกติมาก เรียกว่าคลานเป็นเต่า ทั้งที่ความเป็นจริงควรแตกต่างเพียง 5-6 บาท เท่านั้น พ่อค้าจะกำหนดเท่าไรก็ได้ อย่างนี้ เรียกว่า “โกง” ดังนั้นทางแก้ลำพ่อค้า ภาคเหนือจึงมีโครงการชะลอการขายยาง ถ้าราคายังไม่พอใจ ก็ยังไม่ต้องขาย โดย กยท.จะให้เงินไปก่อน80%  และวิธีที่ 2 ก็พยายามให้ชาวสวนหันมาทำน้ำยางสดขาย ก็มีโรงงานรับซื้อน้ำยางข้น มีแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่แม่จัน จังหวัดเชียงราย สถานะไม่ต่าง แต่ราคาก็ดีกว่าน้ำยางก้อนถ้วย เพราะมีเจ้าเดียว ไม่มีคู่แข่ง นี่คือปัญหา

 

นายสวัสดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า “ยอมรับว่าการที่จะ "ปรับเปลี่ยนเกษตรกร" ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เปลี่ยนไปทำโน้นทำนี่ บางทีสหกรณ์ต้องยอมขาดทุน รับซื้อเพื่อให้ได้ขาย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ว่าการทำน้ำยางสด ทำอย่างไร ก็ทำมา 1 ปีกว่า แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากเกษตรกรก็อ้างว่าจะต้องทำอาชีพหลากหลาย เพราะหากทำ "น้ำยางก้อนถ้วย" สามารถไปประกอบอาชีพเกษตรอื่นได้”

 

 

ด้านสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดงสว่างยางศรีทอง กล่าวว่า อยากจะฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหา โรงงานยาง จำกัด จำนวนยางลง จาก 2,000 ตัน เหลือ 200 ตันต่อวัน แต่ยางชาวสวนออกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ทำให้มีผลต่อราคายางของชาวสวน ไม่มีคนมาซื้อเพราะซื้อแล้วก็ไม่มีที่ส่ง เรื่องนี้ชาวสวนทำยางก้อนถ้วยทางจังหวัดบึงกาฬ ไม่มีปัญญาแก้ไข ท่าน บอร์ดและผู้มีอำนาจ กรุณาช่วยแก้ไข โดยด่วนด้วย  เป็นแผนทุบราคาของโรงงานง่ายๆ แต่ชาวสวนอย่างเราจนปัญญา ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

 

 

เรืองยศ เพ็งสกุล

 

นายเรืองยศ เพ็งสกุล  ประธานกลุ่มกลุ่มวิสาหกิจ วคยถ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ราคาน้ำยางสดหน้าโรงงานแปรรูปยางพารารมควัน ทะลุไปที่ 67 บาท/กก. แล้ว ลบค่าจัดการจุดรับหน้าสวนแล้ว เกษตรกรควรได้ราคา 65 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่ดีในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา คนมีอาชีพทำยางพาราคงมีความสุข ภายใต้ความทุกข์ของดินฟ้าอากาศ (ฝนตกพายุเข้า ยางไม่สามารถกรีดได้) คนกรีดยางและชาวสวนยาง หวังว่านอกจะรอให้ฝนและพายุผ่านพ้นไปโดยเร็ว ยังต้องรอลุ้นปัญหาของบ้านเมือง ให้ผ่านพ้นและได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี

 

“คิดว่าราคายางพาราน่าสดใสยางรมควันราคาทะลุก็ว่า 80 บาท/กก.ส่งผลให้ราคาน้ำยางสดจากมือเกษตรกรขึ้นตามไปด้วยตามผลต่างต้นทุนการแปรรูปยางพารารมควันที่ 60บาท/กก.หากให้ดีรัฐบาลควรเปิดหน้าด่านให้แรงงานที่ทำ MOU ไว้แล้วกับผู้แปรรูปยางพาราสามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานได้ โดยใช้มาตรการกักตัวที่สถานประกอบการและเดินทางโดยนายจ้างไปรับที่หน้าด่านเอง ตรวจโรคเบื้องต้น และควบคุ้มการเดินทางเข้าและกักตัวในสถานประกอบการตามมาตรการที่กำหนด ได้ทั้งป้องกันโรคและแก้ปัญหาการขาดแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายและภาระให้กับทางรัฐบาล กระบวนการผลิตและแปรรูปยางพาราไม่ติดขัดส่งผลให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับต่อไป”

 

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ส่วนนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า การที่จะทำให้ราคามีความเสถียรภาพยืนยาว ควรจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติที่สนใจทำถุงมือยาง มาตั้งโรงงานปักฐานการผลิตในไทยให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าความต้องการใช้ยางในแต่ละวันมีจำนวนมาก จึงทำให้ยางในไตรสังเคราะห์ขาดแคลน ซึ่งทำให้ยางธรรมชาติที่จะอาศัยช่วงชิงตลาดนี้กลับมาได้อย่างยืนยาว จากอานิสงค์โควิด-19  ระบาดไปทั่วโลก ยังมีผู้ติดเชื้อประมาณ 40 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.1 ล้านคน ทำให้ถุงมือยางที่มีความจำเป็นต่อแพทย์ พยาบาล ซึ่งในแต่ละวันจะใช้ถุงมือยาง ไม่น้อยกว่า 400 ล้านชิ้น หรือ 200 ล้านคู่ ใช้ก็ต้องทิ้ง จึงทำให้อย่างที่ทราบกันว่ายางสังเคราะห์ในตลาดโลกขาด  จึงมีความคิดเห็นว่าในส่วนนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทยที่ผลิตถุงมือยางธรรมชาติก็ควรจะอำนวยความสะดวกทั้งบีโอไอ เพราะถือเป็นการมาลงทุนที่ทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยละลายซัพพลายยางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะราคายางจะได้มีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดีก็ขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)หาแนวทางเข้าไปดูแล "เศษยาง" และ "ยางก้อนถ้วย" ให้ปรับตัวสูงขึ้น ให้เทียบเท่ากับน้ำยางสด ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติสาเหตุที่ยางราคาปรับขึ้น อย่ามาโม้ เพราะความจริงโลกรู้สิ่งที่ขาดแคลนก็คือ “ถุงมือยาง” หันมาใช้น้ำยางธรรมชาติจำนวนมาก ส่วนยางแผ่นรมควัน มีเกษตรกรผลิตแค่ 10% เท่านั้น แต่ทำไม "ยางก้อนถ้วย" ราคาจึงไม่ปรับขึ้น เพราะอะไร และขี้ยาง ด้วย อย่าห่าง 20 บาท/กก. ผมว่ามากเกินไป

 

ธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์

 

ด้านนายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตบอร์ด กยท. กล่าวว่า ราคายางขึ้นมีหลายปัจจัยเพราะผลผลิตมีน้อย ความต้องการยางมีมาก แต่ว่าที่มีปัญหาก็คือ "ยางก้อนถ้วย" ราคาไม่ดี ดีแค่น้ำ "ยางแผ่นดิบ" และ "น้ำยางสด" แค่นั้นเอง ต้องฝากรัฐบาลให้มาดูแลราคาน้ำยางก้อนถ้วยให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด เพราะตอนนี้ราคายางไปกว่า 70 กว่าบาท/กก.แล้ว แต่ น้ำยางก้อนถ้วย ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ในขณะนี้ไม่ถึง 25 บาท/กิโลกรัม ด้วยซ้ำไป เพราะหากล้อตามกลไกตลาด ราคายางก้อนถ้วย ราคาที่ควรจะเป็นไม่ควรต่ำที่ 35 บาท/กิโลกรัม

 

“สาเหตุที่ราคายางแผ่นดิบราคาดีเพราะว่ายางแผ่นดิบ ผลิตน้อยลง จึงทำให้ความต้องการมีมาก ส่วน "น้ำยางสด" ก็เป็นความต้องการ "ถุงมือยาง" ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะเร่งผลักดันช่วยเหลือ ยางก้อนถ้วย จะทำอย่างไรเพื่อที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ต้องฝากเป็นการบ้าน กยท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลชาวสวนยางทั้งประเทศให้เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทุ่มงบ จัดงาน "เอ็กซ์โปรยางโลก"

น้ำยางสด พุ่ง 61 บาท/กก. สูงเป็นประวัติการณ์

โลกช็อก "ยางแผ่น" ขาดตลาด

ถุงมือยางไนไตรโลกขาดตลาด