ลอยกระทงปี63 ไม่คึกคัก เศรษฐกิจ-การเมือง-โควิดฉุด

28 ต.ค. 2563 | 08:12 น.

ลอยกระทงปีนี้หงอยเงินสะพัดต่ำสุดรอบ9ปีประชาชนวิตกปัญหาเศรษฐกิจ-โควิด-การเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง 2563 กลุ่มตัวอย่าง 1,222 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16-24 ต.ค. 2563  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  42.7% วางแผนไปลอยกระทง แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ไปลอยกระทงถึง 62.5%  โดยมี 36.3%  ไม่คิดไปลอยกระทง โดยมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี 32.6%  ประหยัดค่าใช้จ่าย 19.6% กลัวอันตราย 17.2% กลัวโควิด -19 13.2% กลัวการชุมนุม 5.4% ส่งผลต่อเงินสะพัดในช่วงวันลอยกระทงปีนี้ขยายตัวติดลบ1.5%  มูลค่าเงินสะพัดเพียง 9,429 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2555

ลอยกระทงปี63 ไม่คึกคัก  เศรษฐกิจ-การเมือง-โควิดฉุด

 โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในวันลอยกระทงคนละ 1,348 .26 บาท ขณะที่ปีก่อนใช้จ่ายคนละ 1,413.48 บาท ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 80.4% มองว่าราคาสินค้าแพงขึ้น  จึงทำให้ต้องประหยัดเงินในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม 40.4% ยังเห็นว่าบรรยากาศวันลอยกระทงยังสนุกสนานเหมือนเดิม เพราะเป็นช่วงเทศกาลและมีมาตรการชอปดีมีคืน ส่วนที่เห็นว่าสนุกสนานน้อยกว่าและเงียบเหงากว่าเดิมนั้นเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 บรรยากาศทางการเมือง และสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งค่าครองชีพ เป็นต้น 

 

 

แม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปีไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  โครงการคนละครึ่ง และชอปดีมีคืน ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะมีเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจเพียง  1 แสนล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยต้องการเงินลงไปในระบบถึง 3 แสนล้านบาท  บวกกับประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ดังนั้นรัฐบาลยังจำเป็นต้องมีการอัดฉีดงบประมาณการลงทุน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น  แต่เวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมองว่าการฟื้นตัวอาจล่าช้าไปอยู่ในช่วงไตรมาส 3 จากเดิมศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อจนถึงสิ้นปีจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจทำให้ติดลบมากขึ้น เนื่องจากการเมืองจะทำให้ยอดขาย กำลังซื้อ รวมถึงการจ้างงานภายในประเทศแย่ลง หากมีผลจากการชุมนุมที่รุนแรง

ลอยกระทงปี63 ไม่คึกคัก  เศรษฐกิจ-การเมือง-โควิดฉุด

“ ความไม่สงบภายในประเทศยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีไม่เห็นผลเท่าที่ควรอาจทำให้มีการชะลอการใช้จ่ายไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ 7.5-8.5%  และเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 3.5-4.5% หรือเฉลี่ยเติบโต 4%”

 

 

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังสำรวจความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 24.7% เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอันดับ 1 คือ ปัญหาโควิด-19 รองลงมา คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ  20.2% สถานการณ์ทางการเมือง 18.5%  สภาพคล่องทางการเงิน 17.2%  โดยมีผู้ประกอบการส่วนใหญ่  28.33%  มองว่าธุรกิจมีความเสี่ยงมากถึงขั้นปิดกิจการ โดยเฉลี่ยสามารถประคองธุรกิจอีกไม่เกิน 4.6 เดือน และสิ่งที่ต้องการได้จากรัฐบาลมากที่สุด คือ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การหาตลาดใหม่ และการลดภาระหนี้ เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งทุนของกิจการต่าง ๆ43.25% คือทุนของตัวเอง ส่วน 36.7% คือทุนในระบบเช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ส่วน 20.1% เป็นทุนที่มาจากนายทุนปล่อยกู้ และญาติพี่น้อง