บีบ ครม.เคาะประกันรายได้ "ข้าว-ยางพารา" พรุ่งนี้

19 ต.ค. 2563 | 10:55 น.

เกษตรกร ร้องรัฐบาล “บิ๊กตู่” ต้องทำตามสัญญา “ประกันรายได้ข้าว-ยางพารา" ชง ครม. วันพรุ่งนี้   

เดชา นุตาลัย

 

นายเดชา  นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีชาวนาเกี่ยวข้าวไปแล้วราคาอ่อนตัวลงมาก ราคาตลาดกับต้นทุนไม่ต่างกันเท่าไร จึงอยากจะฝากรัฐบาลจะทำอย่างไรให้ "โครงการประกันรายได้ข้าว" ของรัฐบาลออกมาให้เร็วที่สุด หากเป็นวันพรุ่งนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ยิ่งดี เพราะจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่กำลังกันอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 20 ไร่  ที่ผ่าน นบข.ไปแล้ว จากปีปกติเรื่องช่วยไร่ละ 1,000 บาท จะออกมาก่อนเป็นลำดับแรก แต่ปัจจุบันยังไม่มีออกมาเลย จะทำอย่างไรกัน

 

“อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งหน่อย ทำอย่างไรก็ได้ให้เข้า ครม.และอนุมัติให้เร็วที่สุด เมื่ออนุมัติแล้ว อยากจะฝาก ธ.ก.ส. ด้วยว่าให้จ่ายเงินให้เร็วด้วย แล้วอย่าไปหักหนี้สิน หรือ ดอกเบี้ย  เพราะไม่ใช่เงินใช้หนี้ เป็นเงินที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ก่อน ดังนั้นจึงขอทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย”

 

สุเทพ คงมาก

 

เช่นเดียวกับ นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข) และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ไม่ใช่ผมคนเดียวที่กังวลในเรื่องโครงการประกันรายได้ข้าว ที่ยังไม่เข้า ครม. ยังมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ. ประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคุณชุติมา บุณยประภัศร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า "สถานการณ์ไม่ปกติ" และมีความรู้สึกกังวลว่า หมายถึงอะไร โจทย์คำถามคืออะไร ถ้าออกมาวันนี้แล้วรีบจ่ายเงินค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 2 หมื่นบาท  แล้วโครงการคู่ขนานพ่วงมาด้วย หากเข้า ครม.แล้ว อย่างไรก็ต้องได้รับ

 

บวกกับสถานการณ์ของตลาดข้าว ทั้งโรงสีและผู้ส่งออก ดีใจอยู่แล้ว หากสถานการณ์ราคาข้าวเป็นอย่างนี้ ข้าวถูก วันนี้ผมในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และอยู่ใน นบข. ซึ่งอนุมัติในกรอบมติ นบข.ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าให้นำเข้า ครม.ก่อนที่ข้าวจะออกสู่ตลาด และขณะนี้ข้าวกำลังจะออกมาแล้ว ทำไมโครงการประกันรายได้ นี้ถึงไม่ประกาศเสียที จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ เพราะความไม่ชัดเจนของโครงการอยากจะทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

 

นายสุเทพ กล่าวว่า ผมขอร้องในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่หลังโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน มีความสำเร็จทำให้ชะลอข้าวออกสู่ตลาดได้ จนกระทั่งมาเป็นโครงการประกันรายได้  ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้ให้คำแนะนำว่าโครงการชะลอชายข้าวเปลือกจะต้องเกิดก่อนที่ข้าวจะเก็บเกี่ยว นี่ช้าเกินไปมาก ดังนั้นขอให้นำเรื่องนี้ช่วยเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้โครงการนี้เกิด เพราะชาวนาจะได้มีโอกาสใช้เงินในโครงการนี้ แล้วปัญหาราคาจะแก้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ตกต่ำไปเรื่อยๆ  ดังนั้นก็อยากประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวนาทุกคนเก็บข้าวในยุ้งฉางก่อน ค่อยทยอยออกมาขายเมื่อได้ราคาดี ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกไม่ล้นตลาด

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ยางพารา ชาวสวนตั้งความหวังรออยู่ เมื่อสัญญาแล้ว ทำไมถึงไม่ทำตามที่รับปากไว้ ตอนหาเสียงไปบรรยายเป็นคุ้งเป็นแคว แต่พอเอาจริง อ้างโน้นนี่นั้น ถึงจะมีภาระอะไรอยู่ ก็ตาม แต่นี่คือสัญญาของเกษตรกร ต้องแยกแยะให้ถูก จะไปปัดว่าไม่มีเวลาไม่ได้ ไม่ใช่คนเดียวจะบริหารทั้งประเทศ ต้องแบ่งงานกันทำ ด้านหนึ่งก็ต้องไปสู้กับม็อบ อีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามนโยบายที่รับปากหาเสียงไว้ แล้วก็มีเกษตรกรถามอยู่เรื่อยๆ

 

"หากจู่รัฐบาลประกาศยุบสภาขึ้นมา คาดว่าจะเร็วๆ นี้ไม่นานหรอก แล้วจะไปขอเสียงเพื่อกลับคืนมาบริหารประเทศอย่างไร แล้วใครจะไปเชื่อผิดสัญญาซ้ำซาก  ต้องคำนึงด้วย อย่าง ชาวสวนยาง เฟสแรก ยังจ่ายไม่ครบเลย แล้วเฟส2 ยังจะผิดสัญญาอีก แล้วต่อไปใครจะเชื่อคุณ ดีไม่ดีพรรคบางพรรคอาจจะสูญพันธุ์งานนี้  แล้วไม่ใช่แค่พรรคอย่างเดียวอาจจะเป็นทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำให้หมดความศรัทธาจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง"