8เดือนส่งออกอาหารทะเล ขยายตัวในอาเซียน41%

19 ต.ค. 2563 | 08:35 น.

พาณิชย์ เผย 8 เดือน ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปโตต่อเนื่อง โกยเงินเข้าประเทศกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  FTA ทำตลาดอาเซียนโต 41% ดันไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง อันดับ 1 ของโลก หนุนใช้ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยเติบโตได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับไทยยังมีความตกลงการค้าเสรีช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเออีกด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ไทยทำเอฟทีเอด้วย 15 ประเทศจาก 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากไทยแล้วทุกรายการ

8เดือนส่งออกอาหารทะเล  ขยายตัวในอาเซียน41%

 

ปัจจัยดังกล่าวทำให้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าส่งออกสู่ตลาดโลก 2,583.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋องส่งออก 1,564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11% ปลาแปรรูปส่งออก 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23% กุ้งกระป๋องส่งออก 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10% ปลาซาร์ดีนกระป๋องส่งออก 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% และหอยลายแปรรูปส่งออก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.5% เป็นต้น ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกาส่งออก 729 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24% ออสเตรเลียส่งออก 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.4% และอาเซียนส่งออก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 41%

และจากสถิติ พบว่า อาเซียน เป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามอง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 52% สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 61% มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 19% ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 88% เป็นต้น สินค้าที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และปลาแปรรูป ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน และครองแชมป์ผู้ส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องอันดับที่ 1 ของโลกอีกด้วย

“เอฟทีเอช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอไทยได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมงกลุ่มวัตถุดิบที่ไทยขาดแคลนและจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน แล้ว เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ขอให้ผู้ประกอบการพิจารณาใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในการส่งออก