บอร์ดรฟท.เคาะเพิ่มวงเงิน “สายสีแดง” 3.1 พันล.

19 ต.ค. 2563 | 06:31 น.

บอร์ดรฟท.เห็นชอบวงเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดง 3.1 พันล้านบาท หลังเกิดภาษีแวต-ผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน กระทบกรอบวงเงินเพิ่ม 9.7 หมื่นล้านบาท คาดทดสอบเดินรถภายในเดือนมี.ค.2564 ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ 2 เส้นทาง ขยายเวลาออกไป 15 เดือน เหตุปรับแบบใหม่

นายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด รฟท. เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ รฟท. นำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเกิดจากภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรนำเข้า รวมทั้งผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน วงเงินรวม 3,143 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงบางซื่อ-รังสิต 2,255 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 887 ล้านบาท ส่งผลให้กรอบวงเงินโครงการฯ ที่ ครม.อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.59 จำนวน 93,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 97,093 ล้านบาท

 นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า กรอบวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมกับการขอขยายวงเงินดำเนินงานโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติมประมาณ 10,345 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการรอหนังสือตอบกลับจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้ขอให้พิจารณาคำสั่งงานก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ในสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามสัญญา และอำนาจหน้าที่ของผู้ที่กำหนดงานหรือไม่ ส่วนความคืบหน้าการทดสอบเดินรถเสมือนจริงนั้น ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งจะเริ่มทดสอบในเดือน มี.ค.64

 นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-สะพานน้อย และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ออกไปอีก 15 เดือน จากเดิมสัญญาที่ 1 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.63 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.65 และสัญญาที่ 2 เดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.64 เป็นวันที่ 30 เม.ย.65 ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องขยายระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากต้องมีการปรับแบบใหม่ เนื่องจากแบบเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ออกแบบไว้นั้น เมื่อลงพื้นที่ดำเนินการจริงปรากฏว่า มีบางส่วนทับซ้อนกับระบบอาณัติสัญญาณ นอกจากนี้ที่ผ่านมาในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งอยู่ภาคใต้เกิดอุทกภัย และภัยทางธรรมชาติต่อเนื่อง จึงต้องหยุดการก่อสร้างไปบ้าง

 

 “ ปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ถือเป็นความจำเป็น และไม่ใช่ความผิดของเอกชน ที่ประชุมจึงมีมติขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไป แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าการขยายเวลาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการ ซึ่งเดิมมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 65 ก็อาจต้องเลื่อนเปิดบริการเป็นปี 66 อย่างไรก็ตามทุกวันนี้การเดินรถไฟในเส้นทางภาคใต้ยังสามารถเดินรถได้ตามปกติ แต่ยังเป็นทางเดี่ยวอยู่”

 

อ่านข่าว  งานงอก!! รฟท. "สายสีแดง" จ่อสะดุด

อ่านข่าว เคลียร์ไม่จบ “รถไฟฟ้าสายสีแดง” เหตุเพิ่มงบหมื่นล้าน