โรงสีประกาศขายทิ้งอื้อ

18 ต.ค. 2563 | 05:10 น.

โควิด ฉุด "โรงสี" ขาดสภาพคล่องหนัก ถอดใจแห่ประกาศขายทิ้งพรึบ “ชัยนาท-สุพรรณบุรี” ขณะที่ชาวนาเผชิญวิบากกรรมข้าวราคาตกทุกชนิด ลุ้นปาฏิหาริย์ ฉุดราคาข้าวพ้นเหว รัฐหว่านแสนล้านคุ้มหรือไม่?

อุตสาหกรรมข้าวไทยปี2563 มีแนวโน้มจะตกต่ำมากสุดในรอบ 20 ปี ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า การส่งออก โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุสาเหตุการส่งออกที่ลดลงในปีนี้เป็นผลพวงจากหลายปัจจัย ทั้งภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวลดลง, การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคตลาดปลายทางลดลง และเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่ง มีผลข้าวไทยราคาสูง กระทบความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับพันธุ์ข้าวไทยในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมของตลาด และมีตัวเลือกน้อย ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อรายสำคัญอย่างฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย หันไปซื้อข้าวจากเวียด นามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ในปีนี้คาดการณ์ว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6.5 ล้านตัน

 

จากผลกระทบดังกล่าวเมื่อคำสั่งซื้อของผู้ส่งออกลดลง “โรงสี” ซึ่งเป็นธุรกิจกลางน้ำ มีกำลังการสีข้าว รวมทั้งระบบกว่า 100  ล้านตัน หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณผลผลิตข้าวของไทย (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) จึงทำให้สถานะของโรงสีสั่นคลอน จากราคาข้าวเปลือก และข้าวสารเจ้า 5% ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี ณ เวลานี้ มีราคาเฉลี่ยลดลง 20-30% ขณะที่โรงสีแบกสต๊อกข้าวไว้ในราคาสูงก่อนหน้านี้ ทำให้ขาดสภาพคล่องมากขึ้นทุกขณะ จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโรงสีก็ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จากสภาพดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการโรงสีหลายรายต้องถอดใจขายกิจการทิ้ง เพราะราคาข้าวมีแต่ “ทรง” กับ “ทรุด”

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า เฉพาะในจังหวัดชัยนาท หนึ่งในพื้นที่ที่มีโรงสีตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ได้มีการประกาศขายกิจการ 4-5 โรง ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีก็ไม่น้อยหน้า ทยอยประกาศขายหลายโรงตั้งแต่ก่อนโควิด-19  พร้อมเขียนจูงใจคนซื้อสามารถดำเนินกิจการได้ทันที เพราะมีใบอนุญาตและเครื่องจักร ราคาขายตั้งแต่ 20-500 ล้านบาท ยังไม่นับจังหวัดอื่น

 

โรงสีประกาศขายทิ้งอื้อ

 

อัษฎางค์ สีหาราช

 

ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศ 4.5 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร) ยังต้องเผชิญวิบากกรรมราคาข้าวเปลือกทุกชนิดช่วงต้นฤดูตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวเกี่ยวสด ความชื้น 20-30% ขายได้ราคาเพียง 5,500-6000 บาทต่อตันเท่านั้น โดย นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ให้ข้อมูลว่า วิกฤติราคาข้าวตกต่ำเป็นทั้งประเทศ มี 2 กลุ่มที่เดือดร้อน กลุ่มแรก คือ "ชาวนา" แต่จะไม่กระทบมากหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่2  โดยเร็ว เพราะชาวนาจะได้เงินชดเชยส่วนต่างกับราคาตลาด พร้อมจะได้ค่าปลูก ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 2 หมื่นบาท ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้

 

อีกกลุ่มคือ "ผู้ประกอบการโรงสี" ที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะได้ด้วยในโครงการคู่ขนานโดยการชดเชยดอกเบี้ยในการรวบรวมข้าว3% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้ แต่ ณ วันนี้ ราคาข้าวเปลือกเหนียวเหลือ 6,500 บาทต่อตัน จาก 2 สัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท ขณะปีที่แล้วโครงการประกันรายได้เริ่มรอบแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ยังไม่แน่ใจว่า วันที่ 20 ตุลาคมนี้ ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

ส่วน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ราคาข้าวหอมมะลิไทยส่งออก (เอฟโอบี) ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 823-827 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ช่วงนี้มีฝนตก ประกอบ กับมีพายุ 3 ลูกเข้าไทย ติดต่อกัน ทำให้สถานการณ์ข้าวไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอีก เพราะฉะนั้นคนที่เก็งตลาดพลาด ที่ซื้อเก็บข้าวไว้ในราคาสูง และไม่ยอมปล่อยขายวันนี้ได้รับความเดือดร้อน เพราะข้าวจะกลายเป็นข้าวเก่าค้างสต๊อก ขณะที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะออก ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศส่วนใหญ่นิยมรับประทานข้าวใหม่ 

 

จากราคาข้าวส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลง ในแง่มุมหนึ่งอาจทำให้การส่งออกดีขึ้น แต่จะดีขึ้นแค่ไหน ก็ต้องดูคู่แข่งด้วย ซึ่งจากการประเมินราคาข้าวหอมมะลิ คาดการณ์จะปรับตัวลดต่ำลงไปอีก ซึ่งอย่านำไปเปรียบเทียบกับราคาใน 2 ปีก่อนหน้านี้ที่อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติทั้งมีปัญหาภัยแล้ง และผลผลิตในประเทศน้อยลงทำให้การส่งออกน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งหากราคาข้าว (หอมมะลิ) ไทยเป็นอย่างนี้จะสู้กับราคาข้าวหอมของกัมพูชาได้ แต่เทียบกับราคาข้าวหอมเวียดนามเขายังราคาถูกกว่าเรามาก

 

บทสรุปสถานการณ์ข้าวไทยที่ภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้องทั้งชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงและมีได้-มีเสียแตกต่างกันไป ต้องจับตาโครงการประกันรายได้ข้าวพ่วงโครงการคู่ขนานที่จะใช้เม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท หว่านเข้าไปในระบบ เพื่อขับเคลื่อนกลไกอุตสาหกรรมข้าวจะคุ้มค่าหรือไม่ 

 

 

หน้า9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3619 วันที่ 18-21 ตุลาคม 2563