วุ่นหนัก! รฟม. ยื่นคำร้องค้านบีทีเอสขอคุ้มครอง ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม 

01 ต.ค. 2563 | 07:09 น.

 รฟม. ยื่นคำร้องคัดค้าน บีทีเอส ขอคุ้มครองชั่วคราว ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังเลื่อนศาลไปแล้วหนึ่งรอบ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการมั่นใจ มีอำนาจขอเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทีโออาร์ ย้ำขยายเวลา 45 วันเพียงพอให้10 เอกชนไปปรับปรุงเอกสาร เมินศรีสุวรณ ช่วยร้องดีเอสไอ

ส่อเค้าความวุ่นวาย กลายเป็นกระแสฮือฮายื่นฟ้องกันไปมา หลังบริษัท บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ขอให้ศาลปกครองยื่นไต่ส่วนฉุกเฉินคดีหมายเลขดำที่ 2280 /2563การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราวกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ –มีนบุรี(สุวิทวงศ์) มูลค่า1.4แสนล้านบาท ซึ่งบีทีเอสมองว่าไม่ชอบมาพากลและไม่เคยปรากฎมาก่อนที่ผู้ว่าจ้างหรือ ผู้ร่วมลงทุนจะแก้ไขทีโออาร์กระทันหันหลังปิดขายเอกสารประกวดราคาเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐส่งผลให้เกิดความเสียเปรียบ จากการเตรียมตัวไม่ทัน

 

ขณะเดียวกันมีองค์กรณ์อื่นให้ความสนใจยื่นฟ้องกระบวนการยุติธรรมอื่นอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไออย่างนายศรีสุวรรณ จรรยาเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา36 แห่ง พระราชบัญญัติ (พรบ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและผู้ว่าการฯ รฟม.หลังมีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังปิดการขายซอง  

ล่าสุด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการฯรฟม. เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รฟม. รอศาลมีคำสั่งนัดวันไต่สวนฉุกเฉิน หลังจากเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากยังไม่เห็นหลักฐานการฟ้องหลักของบีทีเอสกรณีสายสีส้มขณะเดียวกันรฟม.เตรียมยื่น คำร้องต่อศาลปกครองกลับบีทีเอสเช่นกันกรณีคัดค้านการขอคุ้มครองประมูลสายสีส้มของบีทีเอสคาดว่าศาลจะนัดไต่ส่วนในไม่ช้านี้ซึ่งรฟม.มั่นใจว่าสามารถตอบข้อซักถามได้ทุกประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

 

ยืนยันอีกครั้งว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ทีโออาร์เพิ่มเติมสามารถกระทำได้ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายเนื่องจากรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ต้องขนคน ในปริมาณมากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในระยะยาวเสียงบประมาณซ่อมบำรุงที่สำคัญผู้ว่ารฟม.ในฐานะหัวหน้าองค์กรมีอำนาจชี้แจงปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์ให้เกิดผลดีต่อองค์กรต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตามมาตรา36โดยไม่ได้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเสียเองอย่างที่สื่อเข้าใจ

“ รฟม.ต้องการผู้ร่วมทุนและได้ระบบการเดินรถที่ดีที่สุดเป็นไปตามมาตรฐานสากลรับรองไม่ใช่ระบบเดินรถโนเนมไม่มีมาตรฐาน เพียงเพราะดูแค่ ซองราคา หากเกิดอุบัติเหตุเกิดความเสียหายผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนผู้ใช้บริการ “ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์เอกชนยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากยังไม่ได้เปิดซองประมูลอีกทั้งรฟม.ยังขยายระยะเวลายื่นซองเพื่อให้เอกชนเตรียมความพร้อมตามทีโออาร์ใหม่45วันจากเดิมวันที่ 23 กันยายน เป็น 9 พฤศจิกายน 2563 ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณยื่นฟ้องต่อดีเอสไอมองว่าเมื่อคู่กรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วบุคคลภายนอกควรยุติบทบาทในส่วนที่ดำเนินการ"นายภคพงศ์ กล่าว

 

“ฐานเศรษฐกิจ”สอบถามไปยังสำนักงานศาลปกครองถึงความคืบหน้าการนัดไต่สวนคดีดำสายสีส้มแหล่งข่าวระบุสั้นๆว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารคำร้องส่วนการนัดเวลาศาลจะเป็นผู้มีอำนาจออกหมายนัดไต่ส่วนเอง

 

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3614