ขึ้นทะเบียน “กล้วยตากสังคม-ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” เป็น GI

29 ก.ย. 2563 | 06:41 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับสินค้าชุมชนขึ้นทะเบียน “กล้วยตากสังคม” และ “ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” เป็น GI

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับสินค้าชุมชนขึ้นทะเบียน “กล้วยตากสังคม” และ “ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” เป็น GI

 

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิชุมชนที่เป็นแหล่งผลิต สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ข่าวดี!อียูเปิดนำเข้าข้าว 2.48 หมื่นตัน เก็บภาษี 0%

ไฟเขียว 3 ร่างมาตรฐานใหม่ "พืชสมุนไพรแห้ง-ก้อนเชื้อเห็ด-ปางช้าง"

เตือนพายุ 2 ลูกในทะเลจีนใต้ 8-10 ต.ค.

"ธรรมนัส" ลงพื้นที่พะเยาจี้เร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำรับมือแล้ง-ท่วม 

 

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI 2 รายการเพิ่มเติม คือ กล้วยตากสังคม จังหวัดหนองคาย และทุเรียนชะนีเกาะช้าง จังหวัดตราด ทำให้ปัจจุบัน มีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 132 รายการ ครอบคลุม 76 จังหวัด สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับชุมชน

 

 

ลักษณะเด่นของสินค้า GI 2 รายการล่าสุดที่เพิ่งขึ้นทะเบียน คือ กล้วยตากสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นกล้วยน้ำว้า พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์มะลิอ่อง และพันธุ์ปากช่อง 50 ที่ผ่านการตากแดดและอบด้วยความร้อนในเตาถ่าน ทำให้กล้วยตากสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เนื้อละเอียด ไม่มีเมล็ด นุ่ม และหนึบ มีรสชาติหวานธรรมชาติ มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง ปลูกและแปรรูปในเขตพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทุเรียนชะนีเกาะช้าง จังหวัดตราด มีผลรี ยาว หนามใหญ่และห่าง เปลือกบาง สีผิวน้ำตาลปนแดง เนื้อทุเรียนหนา สีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอม ปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

 

 

นอกจากการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์ GI ในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพสินค้า GI เพื่อให้คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของสินค้า GI ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ GI และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้า GI เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป