กมธ.เร่งกู้ชีพ “ประมง” ก่อนอุตฯ ล้มเป็น “ โดมิโน”

25 ก.ย. 2563 | 06:20 น.

เลิกอาชีพประมง” สะเทือนแรงกว่าที่คาด ภาคอุตฯชี้ผล ผลิตจะหายจากระบบ 1.5 ล้านตันต่อปี ห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องจะล้มเป็นโดมิโน ทั้งแพปลา ตลาดสด ล้ง รง.แปรรูป ปลาป่น คนจะตกงานกว่า 2 แสน อนาคตต้องพึ่งนำเข้า ดันราคาสินค้ากระฉูด อนุฯ กมธ.ประมงเร่ง 30 วัน ส่งการบ้านรัฐหาทางออก

อุตสาหกรรมประมงไทยมูลค่าทั้งระบบกว่า 6 แสนล้านบาท ยังต้องเผชิญวิบากกรรม หลังจากปี 2558 ไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) บีบให้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งไทยได้แก้ไขปัญหาจนสำเร็จและได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อต้นปี 2562 ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลก แต่เวลานี้กลับตรงกันข้าม เกิดสถานการณ์ชาวประมงทนไม่ไหว และออกแถลงการณ์เรียกร้อง “เลิกอาชีพประมง” จากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง 2 ฉบับ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 นายกสมาคมชาวประมง 22 จังหวัดได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชวนหลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนในการปรับแก้กฎหมาย โดยให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมแล้ว

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากกลุ่มชาวประมงจะเลิกอาชีพจะกระทบกับผลผลิตสัตว์น้ำที่จับตามธรรมชาติได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน ที่จะหายไปเลยจากระบบ อาทิ ปลาทะเล กุ้งทะเล ปู หอย ปลาหมึก และกั้ง เป็นต้น (กราฟิกประกอบ) เนื่องจากผู้ที่จะยกเลิกอาชีพส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเรือทำประมง จะลามกระทบอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลที่จะตามมา คือ การขาดแคลนวัตถุดิบสัตว์น้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ในการแปรรูปเพื่อส่งออก ราคาวัตถุดิบสัตว์น้ำเพื่อใช้ในการบริโภคในประเทศ และแปรรูปส่งออกจะสูงขึ้น

กมธ.เร่งกู้ชีพ “ประมง” ก่อนอุตฯ ล้มเป็น “ โดมิโน”

“นอกจากนี้จะกระทบอาชีพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะมีปัญหาลามเป็นโดมิโน อาทิ แพปลา,โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ที่จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ คนจะว่างงานตามมา (แรงงานเกี่ยวข้องกับภาคประมงกว่า 2 แสนคน) ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เพราะค่าความเสียหายประเมินมูลค่าไม่ได้”

อำนวย  เอื้ออารีมิตร

 

 

สอดคล้องกับนายอำนวย  เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ที่กล่าวว่า หากประมงอยู่ไม่ได้ อุตสาหกรรมปลาป่นซึ่งเป็นปลายน้ำก็จะอยู่ไม่ได้ต้องปิดตาม มูลค่าอุตสาหกรรมปลาป่นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท  จากผลผลิตปลาป่นไม่เกิน 3.5 แสนตันต่อปี จากสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งระบบ 1.3-1.4 ล้านตันต่อปี

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ผลผลิตอาหารสัตว์ มีทั้งใช้ในประเทศ และมีการส่งออกด้วย สมมติฐานหากไม่มีสัตว์น้ำจากเรือประมงไทยเลย จากอาหารสัตว์ได้วัตถุดิบบางส่วนจากเรือต่างประเทศที่นำเข้ามา อาทิ ปลาทูน่า เป็นต้น ความเสียหายตรงนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอ ต้องนำเข้ามาทดแทนเพิ่ม จะส่งผลทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง จากค่าขนส่งไกล เช่น จากเปรู เป็นต้น หากนำเข้าในลักษณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์

 

 

นริศ ขำนุรักษ์

 

 

ด้านนายนริศ ขำนุรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทย ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทางคณะมีการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทย กรอบระยะเวลาศึกษา 30 วัน มีการประชุมนัดแรกไปแล้ว (15 ก.ย. 63) ซึ่งจะได้เชิญเจ้าของญัตติและผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ประมงพาณิชย์/พื้นบ้าน/ประมงนอกน่านน้ำ) มาให้ความเห็น

 

 

เรื่องสำคัญที่จะพิจารณา อาทิ 1.กฎหมาย ระเบียบประกาศ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง จนทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว สูญเสียรายได้จนถึงกับเลิกอาชีพประมง 2.การเยียวยา มีเรื่องกองทุน,สินเชื่อ และ 3.เรื่องแรงงาน เป็นต้น โดยจะรวบรวมปัญหาประมงให้มากที่สุด พร้อมข้อสังเกต เพื่อส่งเรื่องให้สภาผู้แทนฯพิจารณา และส่งต่อให้รัฐบาลรับไปดำเนินการต่อไป ภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลทำได้หรือไม่ได้ จะต้องแจ้งให้ กมธ.ทราบด้วย 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,612 วันที่ 24 - 26 กันยายน พ.ศ. 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หอบรายชื่อ 1.2 หมื่นราย รื้อกฎหมายประมง

สั้่งชะลอเดินเท้าบุกทำเนียบ