โหมโรง “ข้าวหอมมะลิ” ก่อนซื้อขายจริง

23 ก.ย. 2563 | 21:00 น.

ศึกแห่งศักดิ์ศรี หนึ่งปีมีครั้งเดียว นายกโรงสี เชื่อข้าวหอมมะลิยังร้อนแรง พ่อค้าตะลุมบอนแย่งซื้อ เผยเตรียมออนทัวร์ภาคอีสาน สำรวจ ต.ค.นี้ ชี้ราคาข้าวจูงใจชาวนาบูมปลูกหลายภูมิภาค ไม่ควรจำกัดสิทธิ

เกรียงศักดิ์ ตามปนานนท์

 

นายเกรียงศักดิ์ ตามปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าฤดูกาลผลิต นาปี2563/64 จากการสอบถามผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) บางส่วนในส่วนของข้าวหอมมะลิ คาดว่าจะเริ่มมีการเก็บเกี่ยว “กข15” ประมาณวันที่10 ตุลาคม เป็นต้นไป และข้าวหอมมะลิ105 คาดว่าจะเริ่มประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป ผลผลิตในพื้นที่ภาคอีสานโดยรวมคาดว่าน่าจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา(62/63) ถึงอาจดีกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีผมจะเดินทางไปภาคอีสานในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพื่อให้เห็นพื้นที่จริงอีกครั้งก่อนที่ข้าวจะออกมา แต่เป็นห่วงในเรื่องของ "ราคา" เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากกว่าทุกปี เช่นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องความเชื่อมั่นในด้านการเงิน ปัญหาเรื่องโควิด-19  การบริโภคข้าวของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นต้น

 

 

“ภาพรวม เรื่องข้าวหอมมะลิ105 (และกข15) หรือข้าวพันธุ์ไวแสง ฤดูนาปี (ข้าวกลุ่มพรีเมี่ยมของไทย)  หากดูว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ปลูกข้าวและโรงสีแถบใดบ้างที่สีข้าวพันธุ์ไวแสงบ้าง จะเห็นว่าปัจจุบันเราแบ่งตามพื้นที่จังหวัดที่ปลูกคือ 1) มะลิ 105 และ กข15 ที่ “ปลูกในพื้น 23 จังหวัด” (ภาคอีสาน 20 จังหวัดและภาคเหนือ อีก 3 จังหวัด เชียงราย พะเยา เชียงใหม่)  และ 2) มะลิ 105 และ กข15 ที่ “ปลูกนอกเขต 23 จังหวัด” (หรือที่เราเรียกกันว่า “ข้าวหอมจังหวัด” มีการปลูกในหลายจังหวัดไล่มาดังนี้ ตั้งแต่ แพร่ น่าน ตาก พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี ฯลฯ) ในความเป็นจริงทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร มะลิ 105 และ กข15 ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะในเขต 23 จังหวัด หรือ นอกเขต 23 จังหวัด ก็ซื้อขายกันที่ราคาใกล้เคียงไม่ต่างกันมากนักทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร  รวมถึงในการส่งออกก็ถือเป็น "ข้าวหอมมะลิ105 " ทั้งหมด และใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมดเช่นกัน”

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้นหากจะแบ่งแยก "ข้าวหอมมะลิ105" ก็ควรที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดีเกี่ยวกับแหล่งเพาะปลูกที่แท้จริงก่อน ว่าข้าวหอมมะลิทั้งหมดต่างมาจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในทุกๆ พื้นที่ๆ ปลูกได้ตามที่เกษตรกรเห็นสมควรและเลือกปลูก  ซึ่งหากเราทำการแบ่งแยกตามจังหวัดทั้งหมดจะเป็นการ "ปิดโอกาสเกษตรกร" และหากมีการจำกัดบริเวณเพาะปลูกจริง  และตราบใดที่เกษตรกรยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าก็ไม่ควรจำกัดการเลือกปลูกของเกษตรกร ควรให้เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกพันธุ์ที่จะปลูกได้ตามความเหมาะสม แต่เกษตรกรต้องดูในเรื่องของแหล่งรับซื้อในพื้นที่ประกอบด้วยจะได้ไม่ปัญหาในด้านการขายข้าวเปลือก

 

โหมโรง “ข้าวหอมมะลิ” ก่อนซื้อขายจริง

 

นอกจากข้าวนาปีหรือข้าวพันธุ์ไวแสงแล้ว พื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือเองก็มีการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง หรือนาปรังด้วยเช่นกัน  เนื่องจากภาคอีสานเองก็มีทั้งพื้นที่นาดอน (นานำ้ฝน) พื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน และยังมีส่วนที่ลุ่มที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ  ดังนั้นในแถบภาคอีสานเองนอกจากปลูกข้าวไวแสงที่ปลูกปีละครั้ง (นาปี) เช่น ข้าวหอมมะลิ105 และ "ข้าวเหนียวกข6"  และข้าวไวแสงชนิดอื่นๆ แล้ว พื้นที่ 23 จังหวัดนี้ก็มีการปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง (ที่ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรังด้วยเช่นกัน) ได้แก่ บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ และจังหวัด ที่ติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหารและหนองคายอีกด้วย  เพราะเนื่องจากบริเวณดังกล่าวบางอำเภอมีแหล่งน้ำที่เพียงพอที่จะทำนาได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปีขึ้นไป เกษตรกรแถบนี้จึงมีการทำนาปรังข้าวเหนียวพันธุ์ไม่ไวแสง (เช่น พันธุ์สันป่าตอง กข10 แม่โจ้ และข้าวเจ้าในกลุ่มชนิดข้าวพันธุ์ เช่นพันธุ์ข้าวชัยนาท1 และพันธุ์กข. อื่นๆ ในฤดูนาปรัง)   ส่วน "ฤดูนาปี" นอกจาก ข้าวหอมมะลิ105 และ กข15 ก็มีปลูกพันธุ์ไวแสงอื่นๆ ด้วย เช่น ข้าวประจำถิ่น (เช่น ข้าวตาแห้ง เหลืองประทิว ฯลฯ) ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวแล้วแต่เกษตรกรจะเลือก

 

 

ดังนั้น ข้าวกลุ่มพันธุ์ไวแสง เมื่อดูตามคุณภาพ ข้าวหอมมะลิ105 ไม่ว่าจะมาจากเขต 23 จังหวัด หรือ นอกเขต 23 จังหวัดนั้น  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ   แต่หากเราไม่พิจารณาทำความเข้าใจในส่วนนี้ให้ดีก็จะทำให้เกษตรกรนอกพื้นที่ 23 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่นาดอนต้องเสียประโยชน์ ถือเป็นการปิดโอกาส หรือทำให้ถูกมองว่าข้าวนั้นด้อยกว่า และจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกของเกษตรกร เพราะทั้งหมดเป็นข้าวพันธุ์เดียวกันและ DNA เดียวกัน  ซึ่งตามระบบการซื้อขายส่งออกก็ได้มีการกำหนดให้ “ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยอยู่แล้ว

 

โหมโรง “ข้าวหอมมะลิ” ก่อนซื้อขายจริง

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนข้อสงสัยที่ว่าโรงสีที่สีข้าวหอมมะลินั้นตั้งอยู่ที่ไหนบ้างนั้น  โดยทั่วไปข้าวหอมมะลิทั่วประเทศได้สีและจำหน่ายกระจายจากโรงสีทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก (ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงสีจะเลือกสีข้าวชนิดใดตามความถนัด และช่องทางๆการค้าของโรงสีนั้นๆ ไม่จำกัดภาค แต่หลักๆก็จะเป็นภาคอีสาน) ทั้งนี้ต้นฤดูการเก็บเกี่ยวจะนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมที่ผลผลิตข้าวเปลือกจะออกมาพร้อมกัน และหลังจากนั้นการเก็บเกี่ยวจะเริ่มเบาบางลงคือต้องใช้ระยะเวลาอันสั้นในการเก็บเกี่ยว

 

“คือช่วงต้นฤดูนาปีนี้จะมีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดจำนวนมาก และเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเกี่ยวสดมีความชื้นสูง ตั้งแต่ 27-30กว่า% ความชื้น  ซึ่งตามกระบวนการ เมื่อโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกสดแล้ว ก็ต้องเร่งจัดการลดความชื้นให้เหลือไม่เกิน 15% เพื่อรักษาคุณภาพของข้าวเปลือกให้สูงสุด  เพราะหากการจัดการไม่ดีพอ (มีปัญหาด้านขีดความสามารถจำกัดในการตากหรืออบลดความชื้น ปัญหาการขนส่งที่ล่าช้า หรือปัจจัยต่างๆ) ก็จะเกิดความเสียหาย  อีกทั้งถ้าหากช่วงต้นฤดูนี้เกษตรกรไม่มีแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกที่เพียงพอ (แหล่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมีน้อย คือ มีโรงสี ท่าข้าว หรือจุดรวบรวมที่เข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกน้อย) ก็จะเกิดปัญหาด้านการขายข้าวเปลือกของเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆอีก”

 

โหมโรง “ข้าวหอมมะลิ” ก่อนซื้อขายจริง

โดยเฉพาะช่วงต้นฤดู (ช่วงปลายตุลาคม-ปลายพฤศจิกายน) ข้าวเปลือกหอมมะลิของเกษตรกร ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก การเก็บเกี่ยวหนาแน่น ข้าวเปลือกออกพร้อมกัน จำเป็นต้องขายหรือขายบางส่วน ดังนั้นผลผลิตข้าวเปลือกที่ออกมาจำนวนมากจะกระจายไปตามแหล่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่เกษตรกรนำไปขายให้กับโรงสีในพื้นที่ท้องถิ่น หรือเลือกขายให้กับจุดรับซื้ออื่นๆ ได้แก่ พ่อค้าที่รับซื้อข้าวในท้องที่  รวมถึงจุดรวบรวมต่างๆ (เช่นสถาบันเกษตรกรบางแห่งที่เปิดให้ใช้พื้นที่เป็นจุดรวบรวมและผู้รวบรวมนำไปกระจายขายไปยังโรงสี ภาคต่างๆต่อไปอีก เช่น ภาคกลาง ภาคตะวันออก )  และยังมีโรงสีจากภาคอื่นที่ขึ้นไปช่วยรับซื้อ

 

เช่น โรงสีจากภาคกลาง และ ภาคตะวันออก (ซึ่งยิ่งมีแหล่งรับซื้อมากก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับเกษตรกรมากขึ้น เพราะถือเป็นทางเลือกที่ทำให้เกษตรกรได้มีแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกที่หลากหลายในด้านการแข่งขันรับซื้อ เพื่อที่เกษตรกรจะสามารถเลือกขายให้ใครหรือแหล่งใดก็ได้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดตามที่เกษตรกรพอใจ)  ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะการค้าปกติทั่วไปตามกลไกตลาด  ทั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วในระบบการซื้อขายข้าวหอมมะลิ ไม่ว่าหอมมะลิเหล่านี้จะมาจากพื้นที่ไหน แหล่งใด โรงสีไหน ภาคไหน  ก็ตาม การค้าข้าวหอมมะลิก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนด “มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย” เช่นเดียวกันทั้งหมด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ข้าวหอมมะลิ” โคม่า คาดรัฐจ่ายชดเชย 2 หมื่นล้าน