เวนคืน 611 กิโล รถไฟทางคู่ โยง อีส-เวสต์ คอริดอร์ “แม่สอด -นครพนม”

23 ก.ย. 2563 | 06:32 น.

เวนคืน เปิดหน้าเดินรถไฟทางคู่ สายใหม่ 611 กิโล โยง อีส-เวสต์ คอริดอร์ เส้นทาง แม่สอด ตาก-นครสวรรค์ เชื่อม รถไฟทางคู่ บ้านไผ่-นครพนม หลังมติบอร์ดรฟท.จ้างที่ปรึกษาศึกษา ดันการขนส่งสินค้า ไปเมียนมา-สปปลาว

มติคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) อนุมัติจ้างกลุ่มบริษัท เทสโก้ จำกัด ซึ่งร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ดีไซน์ คอนเซป จำกัด วงเงิน 161 ล้านบาทศึกษา ออกแบบรายละเอียด และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงแม่สอด - ตาก – กำแพงเพชร – นครสวรรค์   ระยะทาง  256กิโลเมตร  มูลค่า 9.6หมื่นล้านบาท กรอบศึกษาออกแบบ 360 วัน แล้วเสร็จภายในปี 2564  จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนศึกษารูปแบบลงทุน และงบจัดสรรงบประมาณ    เชื่อมโยงการเดินทางระเบียงเศรษฐกิจอีสต์ - เวสต์ คอริดอร์  กับรถไฟสาย บ้านไผ่-มุกดาหาร   – นครพนม ระยะทาง  355 กิโลเมตร หรือ  จุดสำคัญในการเชื่อมต่อจากฝั่งตะวันออก ไปยังฝั่งตะวันตก

 

อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์สำคัญของระบบรางประเทศไทย ปัจจุบันยังมีเพียงการเชื่อมต่อแนวเส้นทางขนส่งจากภาคเหนือ เชื่อมภาคใต้ แต่ยังขาดเส้นทางเชื่อมต่อจากฝั่งตะวันออก ไปยังฝั่งตะวันตก ดังนั้นการอนุมัติให้เริ่มงานศึกษาออกแบบโครงการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เบื้องต้น รฟท.ประเมินว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่อีกช่วงที่ได้รับการผลักดันให้พัฒนา เนื่องจากปัจจุบันช่วงนครสวรรค์ - บ้านไผ่ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม

 

 

 

ทั้งนี้ เส้นทาง รถไฟทางคู่ ตาก –นครสวรรค์  เป็นเส้นทางใหม่ต้องเวนคืนตลอดแนวกว่า200กิโลเมตรคาดว่าจะมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ นับพันแปลง  ขณะความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,843 ล้านบาท  สามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ และเปิดประมูลภายในเดือนมกราคม2564 ส่วน รถไฟทางคู่สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  ระยะทาง 323  กม. วงเงิน 85,345  ล้านบาท อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และสามารถประกาศประกวดราคาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563เพื่อให้เอกชนมีระยะเวลาจัดทำข้อเสนอและเงื่อนไขฯ  1 เดือน หลังจากนั้นจะเปิดประมูลภายในสิ้นปีคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนกุมภาพันธ์ –มีนาคมปีหน้า

 

 

 

นายสุชีพ สุขสว่าง  วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เป้าหมายระบบรางมองถึงการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า ไปยังเพื่อนบ้าน  อย่าง ฝั่งซ้ายของประเทศไทย  เชื่อมเมียนมา  ที่อำเภอแม่สอดวิ่งมายัง กำแพงเพชร นครสวรรค์ ฝั่งขวา ของประเทศ เชื่อมบ้านไผ่ มุกดาหารและนครพนม   เข้าสู่สปป.ลาวที่มีเส้นทางรถไฟมารออยู่แล้ว ช่วยให้การขนส่งสินค้า ระหว่างไทย-ลาว-เมียนมา มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกันยัง วิ่ง ไปทางเด่นชัย ไปเชียงใหม่ หรือ เลี้ยวไป ยังเชียงรายเส้นทางสายใหม่ออกสู่ อำเภอเชียงของ เชื่อม สปป.ลาวได้     

ข้าหน้า 7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3612 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อเปิดประมูล “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าเชียงของ”

เวนคืน2ทางคู่เหนือ-อีสาน3 หมื่นไร่