“จุรินทร์”พลิกวิกฤติ สั่งปรับกลยุทธ์ส่งออกสร้างรายได้

21 ก.ย. 2563 | 08:00 น.

วิกฤติโควิด-19  สงครามการค้าและค่าเงินบาท เป็นโอกาส  จุรินทร์ สั่งลุย ปรับกลยุทธ์ สู้เพื่อส่งออกสร้างรายได้ ย้ำพาณิชย์ต้องการคนทุ่มเท

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์ภายใต้สถานการณ์วิกฤติ โควิด-19  สงครามการค้าและค่าเงินบาท โดยต้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความร่วมมือกับทุกกระทรวงเศรษฐกิจของรัฐบาล  โดยการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2563 สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้านี้ จึงคาดว่าการส่งออกของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

“จุรินทร์”พลิกวิกฤติ  สั่งปรับกลยุทธ์ส่งออกสร้างรายได้

โดยได้ให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์สู่ช่องทางออนไลน์ และ ไฮบริด (Hybrid Exhibition) คือควบคู่กันมากขึ้น โดยปรับรูปแบบงานแสดงสินค้านานาชาติและจัดกิจกรรมคู่ขนานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ปรับรูปแบบการจัดคณะผู้แทนการค้า  (Trade mission) และจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศสู่รูปแบบใหม่โดยการส่งตัวอย่างสินค้าพร้อมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และโบรชัวร์รายการสินค้าให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลล์แมนประเทศไทยนำไปจัดแสดงแทนพร้อมมีการติดระบบเจรจาออนไลน์

นอกจากนี้ยังเน้นให้ทุกภาคส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับผู้นำเข้าและห้างโมเดิร์นเทรดใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศให้เกิดประโยชน์ในระหว่างนี้ และผลักดันสินค้าไทยผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ  (Business matching ) ทุกระยะโดยใช้การเจรจาช่องทางออนไลน์เพื่อหาออเดอร์ส่งออก นอกจากนั้น ยังปรับรูปแบบการอบรมสัมมนาสู่ช่องทางออนไลน์โดยผ่าน  Facebook Live ,Webinar, Edutainment, e-Learning ,Zoom conference  เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงองค์ความรู้สะดวกรวดเร็ว ลดการเดินทางสอดรับกับวิถีชีวิตยุคใหม่

“จุรินทร์”พลิกวิกฤติ  สั่งปรับกลยุทธ์ส่งออกสร้างรายได้

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกติดลบในช่วงปี 2556-2558 ตอนนั้นมีปัจจัยลบกระทบต่อการส่งออกไทย เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพร์ม ทำให้เศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญชะลอตัว เช่น ญี่ปุ่น จีน และภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลง ส่วนในปี 2559 -2561 การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวก  โดยขยายตัวระดับสูงในปี 2560 ถึง 6.03%  แต่เนื่องจากผลกระทบสงครามการค้าที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2561 ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2561 ขยายตัวเพียง1.27% และต่อมาก็ติดลบในปี 2562 คือติดลบ 5.92% อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ในมือของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้พบว่าการส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวและครึ่งปีหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้นำทีมเอกชนเดินทางขายสินค้าไทยไปทั่วโลกในบทบาทเซลล์แมนประเทศไทย เพื่อผลักดันการส่งออกผ่านการทำข้อตกลงและกิจกรรมขยายตลาดต่างประเทศ รวมมูลค่า 94,822 ล้านบาท  ระหว่างนี้กำลังติดตามเร่งรัดการส่งมอบสินค้า ซึ่งเดินหน้าไปเกือบครึ่งแต่เมื่อต้นปี 2563 ทั่วโลกต่างประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และได้รับผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกเหมือนกันทุกประเทศอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับประเทศไทยระหว่างที่ประเทศอื่นกำลังสาละวนอยู่กับปัญหา 

 “การปรับกลยุทธ์และปรับทัพของกระทรวงพาณิชย์ในยุคนี้ ทุกฝ่ายทุกคนต้องทุ่มเทหนักมาก  ถ้าเราเข้าใจปัญหาของประเทศก็จะเข้าใจว่าการปรับแผนกลยุทธ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้นต้องทำงานอย่างทุ่มเท  " นางมัลลิกา กล่าว