‘BTS’ ลุ้น ศาล สั่ง ล้มประมูล รถไฟฟ้า “สายสีส้ม”

20 ก.ย. 2563 | 05:25 น.

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเดือด “บีทีเอส” ยื่นฟ้องศาลปกครอง แล้ว 17.ก.ย.หวังล้มกระดาน ยึดเกณฑ์ราคาเต็มร้อย         รฟม.ยันเป็นสิทธิ บอร์ดสรรหาม.36-ไม่สนิทเอกชนรายใด

การปรับเกณฑ์ประมูลหรือเงื่อนไขทีโออาร์ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4แสนล้านบาท ในส่วนการเดินรถทั้งระบบและงานโยธาช่วงสายสีส้มตะวันตกของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) หลังปิดขายเอกสารเอกชนร่วมลงทุน ส่งผลกระทบก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ การใช้ดุลยพินิจชี้ขาดให้กับรายใดรายหนึ่ง เนื่องจากทีโออาร์ใหม่ ระบุชัดว่า ผู้ที่ร่วมประมูลหลัก

 

ต้องมีคุณสมบัติ เคยผ่านการ ก่อสร้างระบบรางรถไฟแบบยึดพื้นผิว ไม่ใช่รางโรยกรวด และเคยก่อสร้างอุโมงค์ทั้งลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและใต้ดินมาก่อน ซึ่งบีทีเอสกรุ๊ปและบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ไม่เคยปรากฏว่ามีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ต่างจากทีโออาร์เดิมที่ใช้ราคาเป็นเกณฑ์ หากชนะประมูลอาจหาพันธมิตรที่ชำนาญการมาร่วมงานได้ในภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับถูกปรับตกด้านเทคนิคตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 กันยายน บีทีเอส ได้ประกาศส่งทนายความยื่นฟ้องรฟม.ต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและ หวังให้ศาลชี้ขาด ให้ใช้เกณฑ์ทีโออาร์เดิมแข่งขันประมูลสายสีส้มเพื่อความเป็นธรรม

 

แหล่งข่าวภายในสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเย็นของวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา  ทนายความ ของบีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาล เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุสั้นๆว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจาก รฟม.แก้ไขเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ หลังจากปิดการขายซองส่อเจตนาใช้ดุลยพินิจและต้องการให้ศาลวินิจฉัยให้รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ทีโออาร์เดิมคือ การใช้ราคาในการตัดสิน

 

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน(Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น ขณะนี้รฟม.ได้ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การ

พิจารณาฯไปยังผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการเข้าร่วมลงทุนฯ ทั้ง 10 รายแล้ว โดยการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนด้านเทคนิค 30% ด้านราคา 70% เบื้องต้นทาง บีทีเอส ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการการ (บอร์ด) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่างพิจารณายื่นร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน เรื่องกระบวนการศาลก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเพื่อให้ยึดหลักเกณฑ์เดิมที่พิจารณาตัดสินด้านราคา 100%

           

 

 

“ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้เรามองว่าไม่เป็นธรรมเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากมีการประกาศขายซองประมูลแล้วแต่กลับมาเปลี่ยนหลักเกณฑ์ฯ หลังปิดการประกาศประกวดราคาที่ผ่านมาการประกวดราคาจะใช้หลักเกณฑ์เปิดซองทีละด้าน แต่ไม่ได้นำเรื่องราคาและเทคนิคมารวมกันแบบนี้ ส่วนการขยายเวลาออกไป 45 วัน เพื่อให้เอกชนทำข้อเสนอตามเงื่อนไขใหม่ เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เรายืนยันจะเข้าร่วมประมูลโครงการฯเหมือนเดิม”

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนโครงการฯ คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่อง จากมีการปิดการขายซองประมูลแล้ว เพราะขณะนี้ผู้ซื้อซองทั้ง 10 รายก็รู้แล้วและแต่ละรายก็มีความถนัดอย่างไร

          

 

 

  รายงานข่าวจากรฟม.ย้ำว่า  ปัจจุบันได้แจ้งผู้ซื้อเอกสารฯ มีเวลาทำข้อเสนอตามเงื่อนไขใหม่จึงขยายเวลาการยื่นซองออกไปจากเดิมอีก 45 วัน จากวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ 6 พ.ย. 63 ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562  เพื่อให้ได้ผู้ร่วมลงทุนที่ดีที่สุด ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับฝ่ายกฎหมายระบุว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 สามารถทำได้ตามกรอบอำนาจ ทั้งนี้หลังจากที่ รฟม. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ซื้อเอกสารฯปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ซื้อเอกสารฯ รายใดโต้แย้งเข้ามายัง รฟม.

 

ทั้งนี้กรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีทำหนังสือคัดค้านการปรับปรุงหลักเกณฑ์มายัง รฟม.นั้น คณะกรรมการมาตรา 36กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าตามระเบียบแล้วต้องทำหนังสือตอบกลับไปยังบีทีเอสซีอย่างเป็นทางการหรือไม่

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการกับบีทีเอสซีไปแล้วว่าการปรับปรุงเป็นไปตามระเบียบ และประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) รวมทั้งเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 36 ยืนยันว่าคณะกรรมการมาตรา36 และ รฟม. ไม่ได้สนิทและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดเป็นพิเศษและข้อเสนอด้านการเงินก็ยังคงเป็นตัวตัดสินหลัก

หน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3611 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

“อิตาเลี่ยนไทย” ทำพิลึก ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม เลิกเน้นราคา

“ชุมชนประชาสงเคราะห์”  หนุนรถไฟฟ้า สายสีส้ม ใช้ “หัวเจาะอุโมงค์”

เตือน! ระวังค่าโง่ รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มตะวันตก’  ติดหล่มเวนคืน 

“ITD” อ้าง รถไฟฟ้า“สายสีส้ม” เทคนิคขั้นสูง ทีโออาร์ อย่ายึดราคาประมูล