วอนพาณิชย์ เลิก “บอนไซ” ปล่อยราคาหมูตามกลไกตลาด

19 ก.ย. 2563 | 10:07 น.

เกษตรกร ติงพาณิชย์ไม่เข้าใจกลไกตลาด หลังตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 ต่อกิโลฯ วอนรัฐเลิกบอนไซเกษตรกร หวังต้นทุนคุมโรคระบาดพุ่ง ขณะผู้บริโภคมีทางเลือก

 

จากที่ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 จากกิโลกรัม(กก.)ละ 67-68 บาท เป็น กก.ละ 81-82 บาทในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นสูงกว่า กก.ละ 170 บาท กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ยังอยู่ในช่วงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ล่าสุดนายวิชัย  โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้นัดประชุมหารือกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมหมู และขอตรึงราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่จำหน่ายในประเทศไม่เกิน กก.ละ 80 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต กก.ละ 71.55 บาท เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ไม่เกิน กก.ละ 160 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และไม่กระทบต่อผู้บริโภคมาก ด้านโรงเชือดชำแหละก็ช่วยตรึงราคาขายส่งไว้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ค้าปลายทาง ในตลาดสด และห้างสามารถขายปลีกเนื้อสุกร (สะโพกและไหล่) ที่ กก.ละ 150 บาท และสันนอก กก.ละ 160 บาท

 

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึง ตามที่ให้สัญญากับกรมการค้าภายในไว้ว่าจะร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนสุกร และไม่ให้ราคาสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชนโดยระดับราคาดังกล่าวถือว่าเกษตรกรพอมีรายได้แค่กลับมาต่อทุนเพื่อเลี้ยงสุกรในรุ่นถัดไปเท่านั้น เพราะต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม ที่สำคัญเกษตรกรทั้งประเทศยังต้องต่อสู้กับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“หมูไทยราคาไม่ได้สูงไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องรับมือกับโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนักอย่างจีน เวียดนาม เมียนมา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากการขาดแคลนหมูอย่างหนัก เพราะภาวะโรคช่วงนี้ที่ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี หากเห็นว่าหมูราคาสูงทุกท่านยังมีทางเลือกรับประทานโปรตีนอื่น ๆ ทดแทนได้ ทั้งปลา ไข่ ไก่ แต่พวกเรามีอาชีพเลี้ยงหมูอาชีพเดียวเท่านั้น ขอให้กลไกตลาดได้ทำงาน หากถูกควบคุมมากจนเกินไปเกษตรกรอาจไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้” นายสุนทราภรณ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมูหน้าเขียงพุ่งโลละ 160 บาท ผู้เลี้ยงชี้ตามกลไกตลาด-ยันไทยถูกสุด

โบ้ย "หมูแพง" จากผู้เลี้ยง-พ่อค้านอกลู่ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปไล่จับเอง

ปีทองผู้เลี้ยงหมู ส่งออกแล้วหมื่นล้าน

สั่งคุมราคาหมูห้ามขายเกิน160