ปิดฉาก"ขุดคลองไทย" ดัน‘แลนด์บริดจ์’ บูม ศก.ใต้

19 ก.ย. 2563 | 02:40 น.

ครม.บิ๊กตู่ ปิดฉาก ขุดคลองไทย ผ่าแผ่นดิน ไฟเขียวคมนาคม ปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ รถไฟทางคู่ เชื่อม อันดามัน-อ่าวไทยท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร พัฒนาระเบียงศก.ใต้ 109 กิโลเมตร โยง ท่าเรือแฆลมฉบัง อีอีซี

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ งบ 68ล้านบาท ศึกษาทบทวนความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณ 2563-2566

 

สะท้อนว่ารัฐบาลล้มแผน"ขุดคลองไทย" ฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์ รถไฟทางคู่ เชื่อมโยงท่าเรือนํ้าลึก ระนอง-ชุมพร ระยะทาง 109 กิโลเมตร มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท

ปิดฉาก"ขุดคลองไทย"  ดัน‘แลนด์บริดจ์’  บูม ศก.ใต้

โดยชูท่าเรือนํ้าลึกระนองเกตเวย์ เชื่อมต่อมายัง ท่าเรือแหลมฉบัง เขตพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคตะวันออกหรืออีอีซี และเปิดประตูขนส่งสินค้าออก อ่าว เบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีฐานความต้องการ สินค้าไทย สำหรับ อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา

 

ขณะที่อีอีซี ฐานกระจายสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าประเทศจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่สำคัญ ยังมีการลงทุนโครงสร้างทางรางและ ถนนขนาด 4 ช่องจราจร จาก บริเวณท่าเรือระนอง รอไว้แล้วเพียงลงทุนเพิ่ม และพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ ) คู่ขนาน รถไฟทางคู่ ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม มีความคุ้มค่าลดต้นทุน พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันขนส่งสินค้า ได้ โดยรถ ราง เรือ อากาศ

 

กระทรวงคมนาคมยังสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาพัฒนาท่าเรือนํ้าลึก ระนอง และชุมพร เชื่อม แลนด์บริดจ์ หรือรถไฟทางคู่ กระชับสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันรวมถึงมอเตอร์เวย์ มูลค่ารวม 165 ล้านบาท ในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนหรือ พีพีพี ในปี 2564 เพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าในปริมาณมาก ตามข้อเสนอภาคเอกชนในพื้นที่ และการลงพื้นที่ของครม.สัญจร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

 

ผลศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า การขนส่ง สินค้า จากท่าเรือ นํ้าลึกระนอง ไปยังท่าเรือชุมพร เชื่อมถึง ท่าเรือแหมฉบัง จังหวัดชลบุรี จะมีสินค้านำเข้าส่งออก ปีแรก 33,116 ตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มเป็น 85,502 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีหากพัฒนาแล้วเสร็จ ขณะปริมาณการขนส่งสินค้าและ คนจำนวน 5,724 คนต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 11,710 คนต่อปี ภายใน 30 ปี เติบโต 100% หรือ คิดเป็น 28% ต่อระยะเวลา 10 ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุตอนหนึ่งว่า ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสำรวจการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกทั้ง 2 แห่ง วงเงิน 75 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณเพื่อสำรวจเส้นทางทางถนนและรถไฟเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่ง วงเงิน 90 ล้านบาท สำหรับการศึกษาพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ระดับความลึกที่ 15 เมตร เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย (จ.ชุมพร-จ.ระนอง) ซึ่งได้มีการวางแผนทั้ง 2 รูปแบบ โดยพัฒนาท่าเรือเดิมที่มีหรือสร้างท่าเรือใหม่ ซึ่งจะมีการถมทะเลเหมือนทั่วโลกที่ดำเนินการ ทั้งนี้จะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และแก้ปัญหาผลกระทบต่อประชาชน

 

ขณะคลองไทยพร้อมพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ผลการศึกษาออกมาเรียบร้อย จาก คณะกรรมาธิการ วิสามัญ ซึ่ง เสนอ โดยวุฒิสภา เมื่อปี 2549 ภายในเดือนกันยายน 2563 หากไม่มี ปัญหาอื่นใดมากระทบ จะ เสนอต่อครม.แต่ ยังไม่ทันได้เสนอ ปรากฎว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ของสนข. กลับได้รับคัดเลือกเสียก่อน ขณะผลกระทบ พบว่า นอกจากงบลงทุนที่สูงมากถึง 2 ล้านล้านบาท แล้วยังเป็นเส้นทางระยะยาว ต้องใช้เวลา ขุดคลองยาวนาน อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล 

ขณะนักธุรกิจ มองว่า แม้เป็นหนึ่งใน โครงการ สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ภาคใต้ ตรัง-สงขลา ซึ่งต้องมองผลกระทบให้รอบด้าน ทั้งความล้าสมัย ด้านเทคโนโลยีที่ประเทศคู่แข่ง อาจนำมาใช้ขนส่งสินค้าที่ดีมากกว่าการเดินเรือ จากการขุดคลอง กระแสนํ้าอาจเปลี่ยนทิศทาง อันตรายจากโจรสลัด แม้มีบริษัทชั้นนำของโลก ให้ความสนใจ

 

แต่รัฐบาลไทยต้องรอบคอบ โดยสรุป ระหว่างการโครงการการขุดคลองไทยของ กมธ. กับ การปัดฝุ่นแลนด์บอรดจ์ ส่งเสริมศักยภาพขนส่งทางราง-บก-นํ้า-อากาศ ของสนข.ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรออยู่ รัฐบาลเลือกล้มกระดานคลองไทย เป็นทีเรียบร้อยแล้ว !!!...

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่ทเกี่ยวข้อง

กูรูจีน ฟันธง ไม่ขุดคลองไทย

ครม.ทุ่มงบ 68 ล้าน จ้างที่ปรึกษาเดินหน้า "แลนด์บริดจ์" 

เปิด PPP ชิง ท่าเรือน้ำลึก ชุมพร-ระนอง เชื่อมแลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง

9  เรื่องพึงระวัง จี้ปัดฝุ่น‘คลองไทย’ เส้นทางใหม่ขนส่งทางน้ำโลก