‘จีน’เบอร์ 1 คู่ค้า-ลงทุนไทย ดาบสองคมที่ต้องระวัง

19 ก.ย. 2563 | 01:47 น.

‘จีน’เบอร์ 1 คู่ค้า-ผู้ลงทุนในไทย ดาบสองคมที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง ฟังจากบทวิเคราะห์ตัวอย่างส่วนหนึ่งถึงผลบวกและผลลบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

 

ความสำคัญของ “จีน” นอกจากจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกที่หายใจรดต้นคอ จ่อแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอยู่อันดับ 1 มากขึ้นทุกขณะแล้ว ยังเป็นที่ทราบกันดีว่านักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่เดินทางมาไทยก่อนเกิดโควิด-19

 

นอกจากนี้หากไม่นับรวมกลุ่มอาเซียนแล้ว ปัจจุบันจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2562 การค้าไทย-จีน(ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่าถึง 2.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการค้าถึง 18% ที่ไทยค้ากับโลก โดยจีนเป็นตลาดส่งออกของไทยสัดส่วน 13% และเป็นแหล่งนำเข้าของไทยสัดส่วนถึง 24% ขณะช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 การค้าไทย-จีน มีมูลค่ารวม 1.42 ล้านล้านบาท ยังเป็นสัดส่วน 18% ที่ไทยค้ากับโลก โดยที่การส่งออกของไทยไปจีน (รูปเงินบาท) ยังขยายตัวที่ 3.8% (กราฟิกประกอบ) ถือเป็นเพียงไม่กี่ตลาดที่การส่งออกของไทยยังเป็นบวก ท่ามกลางสถานการณ์โควิดทั่วโลกที่ยังลุกลาม

 

ขณะเดียวกันความสำคัญของจีนในแง่การลงทุน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง จากปี 2558 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทยอยู่ที่ 12,457 ล้านบาท อยู่อันดับ 5 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ในปี 2562 ผงาดขึ้นมาอยู่อันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยครองตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนาน โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทุนจีนมีจำนวน 203 โครงการ เงินลงทุน 261,706 ล้านบาท ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 การขอรับการส่งเสริมลงทุนของจีนในไทย มีจำนวน 95 โครงการ เงินลงทุน 17,461 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

 

จากความสำคัญของจีนที่มีต่อไทยทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวชี้ให้เห็นอนาคตว่าไทยยังต้องพึ่งพาจีน และอาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจีนมองไทยเป็นพันธมิตรที่ดี มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นในทุกระดับ แต่หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแล้วมีทั้งด้านบวกและด้านลบที่ไทยต้องถึงระวัง

 

 

‘จีน’เบอร์ 1 คู่ค้า-ลงทุนไทย  ดาบสองคมที่ต้องระวัง

 

โดยผู้สันทัดกรณีเช่น ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ในแง่การค้าว่า การค้าไทย-จีน ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น จากกำลังซื้อของคนจีนปรับตัวดีขึ้นหลังโควิดในจีนคลี่คลาย แต่การนำเข้าของไทยจากจีนคาดยังคงติดลบเพราะกำลังซื้อของไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปจีนเพิ่มได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป (โดยเฉพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ) ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ปัจจัยจากความกังวลเกิดโควิดรอบ 2 

 

ขณะที่ทิศทางการค้าไทย-จีนปี 2564  มองว่าจะปรับดีขึ้นกว่าปี 2563 โดยคาดว่าปี 2564 การส่งออกของไทยไปจีนจะขยายตัวได้ 2-3% ปัจจัยบวกได้แก่ 1.การมีวัคซีนโควิด 2.หากโจ ไบเดน จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแทนโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนคลี่คลายลง และส่งผลดีต่อการค้าโลกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น 3.ดัชนีอุตสาหกรรมจีนฟื้นตัวเป็นบวก จะมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพื่อไปผลิตส่งออกต่อมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ผลกระทบของโควิดที่มีผลต่อกำลังซื้อของคนจีน และ 2.สงครามเทคโนโลยีและการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่อาจมีความรุนแรงขึ้น

 

ส่วนในมุมมองของนายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ชี้ให้เห็นในมุมการค้า การลงทุนสไตล์จีนหรือ “ไชน่า โมเดล” ว่า มีความน่ากลัว เพราะสินค้าจีนผลิตครั้งละมาก ๆ  (แมส) ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และรัฐบาลจีนยังให้เงินอุดหนุนการส่งออก ทำให้สินค้าจีนขายได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในของหลายประเทศ รวมถึงไทยในหลายสินค้าแข่งขันกับสินค้าจีนไม่ได้ ระยะหลังจะเห็นมีการหยุด/ปิดกิจการแล้วหันไปนำเข้าสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่ามากเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น

 

‘จีน’เบอร์ 1 คู่ค้า-ลงทุนไทย  ดาบสองคมที่ต้องระวัง

 

นอกจากนี้ช่วงหลายปีที่ผ่านมานักธุรกิจจีนยังได้เข้ามาซื้อร้านค้าปลีกในไทยเพื่อจำหน่ายสินค้าจีนมากขึ้น เห็นได้จากร้านค้าปลีกย่านสำเพ็ง พาหุรัด เจ้าของร้านได้เปลี่ยนจากคนไทยเชื้อสายจีน เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น โดยว่าจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น เมียนมา มาขายแทน ขณะที่ในตลาดผลไม้สำคัญ เช่น ลำไย ทุเรียน ในแหล่งสำคัญของไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ระยอง จันทบุรี ตราด และอื่นๆ  ทั้งล้งรับซื้อ และคัดบรรจุผลไม้ รวมถึงโรงงานแปรรูปทุเรียนในภาคใต้ ต่างอยู่ในมือของชาวจีนเกือบทั้งหมด ทำให้มีอำนาจในการควบคุมตลาดและราคา

 

ส่วนในแง่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนมาแรงมาก ขึ้นมาอยู่อันดับต้น ๆ  ของนักลงทุนรายใหญ่ในไทย ซึ่งการลงทุนสไตล์จีนนอกจากจะนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาแล้ว ยังนำบุคลากรของตัวเองเข้ามาทำงานด้วยในเกือบทุกระดับ สามารถทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนแข่งขันได้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือว่าจ้างแรงงานไทยจึงต่ำกว่าการลงทุนจากญี่ปุ่น ทั้งนี้การลงทุนของจีนที่ย้ายมาไทยที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เพื่อมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกทดแทนฐานผลิตในจีนที่ถูกสหรัฐฯและคู่ค้าอื่นขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดลดการอุดหนุน (AD/CVD) ที่น่าห่วงคือสินค้าจีนที่ผลิตในไทย และส่งออกไปสหรัฐฯในราคาต่ำได้ถูกสหรัฐฯจับตามองเป็นพิเศษ และได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว กรณีล่าสุด สินค้ายางรถยนต์จากไทยได้ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด อันเนื่องมาจากผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับ 1-5 ของจีนได้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปจีนในราคาต่ำ ผลพวงผู้ประกอบการยางรถยนต์ของคนไทยพลอยถูกขึ้นภาษีไปด้วย เป็นต้น

 

‘จีน’เบอร์ 1 คู่ค้า-ลงทุนไทย  ดาบสองคมที่ต้องระวัง

 

จากความเห็นของผู้สันทัดกรณีต่อ “ไชน่า โมเดล” ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า แม้ไทยจะได้รับผลดีจากที่มีจีนเป็นคู่ค้า คู่ลงทุนอันดับต้น ๆ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้  และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องพึ่งระวังถึงภัยที่ตามมา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องเร่งจัดระเบียบการค้า การลงทุนที่เหมาะสม เพื่อลดแรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นระลอกในอนาคต

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ฉบับที่ 3611

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BOIพร้อมโรดโชว์จีน มั่นใจปี 63 ยังมาลงทุนสูงต่อเนื่อง

พิษ "สงครามการค้า" ฉุดจีนลงทุนสหรัฐฯต่ำสุดรอบ 11 ปี

ทุนญี่ปุ่น หนีเสี่ยงจีน ทะลักไทย