“กสอ.” สร้างงาน “บัณฑิตใหม่” - “คนว่างงาน”กว่า 10,000 คน

18 ก.ย. 2563 | 07:55 น.

"กสอ." เผยผลนโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ช่วยเอสเอ็มอีกว่า 4,300 กิจการ สร้างอาชีพให้กับแรงงาน บัณฑิตจบใหม่ รวมทั้งคนว่างงานกว่า 10,000 คน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” เปิดเผยว่า มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกว่า 4,300 กิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ตัวเลขการเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) กลับมาอยู่ในแดนบวกโดยเร็ว ประกอบด้วย

              กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถฟื้นฟูได้กว่า 4,200 กิจการ มีผู้สนใจร่วมอบรมออนไลน์กว่า 100,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,100 ล้านบาท โดยรายละเอียดของการฟื้นฟู เกิดจากการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนและการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรองรับความเป็นปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) อาทิ การขยายสู่ตลาดออนไลน์ การปรับไลน์การผลิต

และการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการด้านสาธารณะสุขที่เพิ่มสูงขึ้น การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการ MedChic ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 20 กิจการ การต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จำนวน 11 ต้นแบบ  

“กสอ.” สร้างงาน “บัณฑิตใหม่” - “คนว่างงาน”กว่า 10,000 คน

ประชาชน แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ และคนว่างงาน สามารถส่งเสริมให้เกิดการมีงานทำรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท ผ่านการปรับ-เพิ่ม-สร้างทักษะใหม่ (Reskill-Upskill-New Skill) การสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะทาง เพื่อการทำงาน ณ ภูมิลำเนา รวมทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ

พื่อพัฒนาคนว่างงานให้เป็นผู้ประกอบการ รูปธรรมของการฟื้นฟูจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นชัดเจนที่ชุมชนห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการส่งเสริมให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโควิด-19 กว่า 40 คน มีงานทำทั้งหมด สร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ลดรายจ่ายจากเดิมที่ต้องแบกรับภาระค่าที่พักและค่าเดินทาง รวมกว่า 12,000 บาทต่อเดือน  

ชุมชน / วิสาหกิจชุมชน สามารถฟื้นฟูวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า 11 ชุมชน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาชุมชนผ่านการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับทีมนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว ยกระดับการบริหารจัดการ อาทิ 

หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village) หรือ หมู่บ้าน CIV 5 ดาว ชุมชนบางคล้า ที่ได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งนำเสนออัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และกระตุ้นการจ้างงานของคนในพื้นที่  

เกษตรกร / ธุรกิจเกษตร สามารถพัฒนาธุรกิจเกษตรได้กว่า 100 กิจการ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ท้องตลาดกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท  โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูผ่านกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจยกระดับให้เป็น เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาตรฐานและทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น

ผลิตภัณฑ์มาดามแมงโก้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปอบแห้ง ให้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวางแผนทำการตลาด ซึ่งทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในช่วงผลผลิตล้นตลาด ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วง โดยมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center) หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ในการจัดหาเครื่องจักรกลที่เหมาะสม ทำให้สามารถดำเนินดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              นายณัฐพล กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมาย เป็นเพียงมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทว่า การส่งเสริมเพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ที่ทุกกิจการต้องเร่งปรับตัว ทั้งเพื่อการสร้างมาตรฐานให้กับกระบวนการผลิต อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งเพื่อการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอุตสาหกรรม สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค และ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ ICT4.0 ทั่วประเทศ

“นโยบายดีพร้อมทันที 90 วัน เป็นนโยบายเร่งด่วนโดยนำงบประมาณในกิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 กว่า 150 ล้านบาท มาขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดบเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน 63”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กสอ.”เร่งสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาเชิงลึกค้นหาศักยภาพธุรกิจใหม่

“กสอ.” ชี้ ““ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก” โตสวนกระแสโควิด-19

“กสอ.” เดินหน้า “อินดัสตรีบับเบิล” ไทย-ญี่ปุ่น เปิดจับคู่ธุรกิจ 70 กิจการ