ร้องนายกฯ "นกแอร์" เบี้ยวจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างนักบิน

14 ก.ย. 2563 | 05:28 น.

อดีตตัวแทนนักบิน ยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกเลิกจ้างก่อนสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด แต่บริษัทไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับนักบินตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนอดีตนักบินนกแอร์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กรณีถูกบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับนักบินตามกฎหมาย โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ตัวแทนอดีตนักบินนกแอร์ที่ยื่นหนังสือในครั้งนี้ ระบุว่า บมจ.สายการบินนกแอร์ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับนักบินที่เลือกตั้ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ควรจะต้องพูดกันตั้งแต่ตอนก่อนถูกเลิกจ้าง ซึ่งก่อนการเลิกจ้างนั้น ได้มีการให้ลดเงินได้ มาก่อนแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ และแต่ละครั้งเป็นช่วงเวลาที่ห่างกัน 1 เดือนพอดี คือ 11 กุมภาพันธ์ 63 และ 11 มีนาคม 63 โดยถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทั้งสองครั้งนั้นอยู่ในไตรมาสเดียวกัน ซึ่งก่อนการลดเงินในแต่ละครั้ง ทางฝ่ายบริหารจำเป็นที่จะต้องทราบถึงจำนวนเงินที่สามารถลดให้บริษัทได้

 

แต่หลังจากที่ลดไปแล้วครั้งหนึ่ง กลับมาลดต่อเนื่องอีกครั้งที่สอง โดยที่ในช่วงนั้น ไม่ได้มีการลดเงินจากแผนกอื่นๆด้วย มีแค่แผนกนักบินเท่านั้นที่ถูกลด ตรงนี้จะเห็นได้ว่า มีความไม่ชอบมาพากล และมิหนำซ้ำ ได้มีการบอกกล่าว จากผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายนักบิน ให้มาโน้มน้าวเพื่อนักบินทุกคนเซ็นใบยินยอมลดเงินในทุกๆครั้ง โดยแจ้งใน LINE กลุ่มนักบินว่า ถ้าไม่ยอมมาเซ็นลดเงิน บริษัทจะเอาออก หรือแจ้งขู่เรื่องการทำงานต่อ และจะต้องมาเซ็นภายในวันนั้นวันนี้ เท่านั้น

 

ทางฝ่ายผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายนักบินยังอ้างต่อว่า ไม่ต้องการให้ใครออกเลยซักคนเดียว นักบินทุกคนจึงยอมไปเซ็นชื่อเพื่อลดเงินกันทั้งหมด พวกเราทุกคนก็ยินยอม และพร้อมใจไปเซ็นให้โดยหวังว่า จะได้ช่วยบริษัทลดค่าใช้จ่าย และเพื่อความอยู่รอดของส่วนรวม แต่สุดท้ายพวกเราเหมือนโดนหักหลัง

 

โดยทางบริษัทเลือกคนบางกลุ่มมาพูดคุย และอ้างว่า บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องให้นักบินชุดหนึ่ง (จำนวนคร่าวๆ 24 คน) เซ็นใบ ยินยอม และสมัครใจลาโดยไม่รับเงินเดือนชั่วคราว Leave without pay LWOP เป็นเวลากว่า 8 เดือน ซึ่งเป็นยาวนานเกินกว่าปกติ ในมุมมองของนักบินถือว่า ยาวนานมากเพราะนักบินจำเป็นที่จะต้องมีการ recurrent หรือการต่ออายุศักย์ทางการบิน ทุกๆหกเดือน (การทดสอบทั้งในเครื่องจำลองการบิน หรือ simulator และการทดสอบข้อเขียน)

 

แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการเตรียมแผนที่จะเรียกคนที่ขาดการ recurrent มาทำการฝึกเลยในระหว่างที่พวกเราโดย LWOP แจ้งแค่อย่างเดียวว่า พอถึงเวลาทางบริษัทจะจัดการใหม่ให้ทั้งหมด พวกเราได้อธิบายไปแล้วว่า ถ้าขาด recurrent เกิน 6 เดือนนั้นจะต้องเริ่มฝึกอบรมใหม่ประมาณ 50 - 60% ของหลักสูตรหลัก ซึ่งจะใช้งบประมาณมากมายมหาศาล และไม่เป็นการดีต่อบริษัทซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตทางการเงินเช่นนี้

 

อีกทั้งคนในกลุ่มของเราทุกคนสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมไม่ให้นักบินทุกคนที่ประจำการอยู่ในบริษัทมาแบ่งเซ็น LWOP เป็นจำนวนวันเท่าๆกันทุกคนเพื่อความเสมอภาคกัน เฉกเช่น สายการบินอื่นๆที่เขาทำกัน แต่ทางผู้บริหารที่มาคุยในวันที่ 17 มีนาคม 63  ก็ไม่สามารถบอกได้ ทางกลุ่มของเรา จึงขอให้ทางบริษัทช่วยพิจารณาเรื่องนี้ว่า ทำไมถึงไม่มีความเท่าเทียมกันในเรื่องนี้เกิดขึ้น

 

สุดท้ายแล้ววันที่ 21 มีนาคม 63 ในกลุ่มของเราทั้งหมดที่ไม่ยอมเซ็นใบ LWOP ในวันนั้น (17 มีนาคม 63) กลับถูกเรียกเข้าบริษัทเพื่อยื่นจดหมายเลิกจ้าง โดยให้เหตุผลว่าบริษัทขาดทุนเนื่องจากปัญหาโควิด และการขาดทุนสะสม ซึ่งถ้ามองดูตรงนี้ให้ดี บจม.สายการบินนกแอร์ เป็นบริษัทสายการบินที่เน้นการบินภายในประเทศเป็นหลัก

 

อีกทั้งผลกระทบจากโควิดเกิดขึ้นหลัง (ขอย้ำว่าหลัง) จากที่บริษัทแจ้งในจดหมายเลิกจ้าง ในจดหมายเลิกจ้างนั้น ได้ระบุว่า การเลิกจ้างนั้นมีผลวันที่วันที่ 1 พฤษภาคม 63 หลังจากวันที่ 7 พฤษภาคม 63 (หลังวันเลิกจ้างมีผลได้7วัน)ในกลุ่มของเราทุกคนไม่มีใครได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทเลยแม้แต่คนเดียว ทางกลุ่มของเราจึงได้ยื่นโนติสให้กับทางบริษัทว่า จำเป็นจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาว่า จะต่อรองขอผ่อนจ่าย และไม่ให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“นกแอร์”ไตรมาส2ขาดทุน796ล้าน  ดิ้นสู่พรีเมียมบัดเจ็ตแอร์ไลน์

‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 

สายการบินดิ้น บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์

“นกแอร์” ยันบินปกติ ไม่กระทบ “นกสกู๊ต”เลิกกิจการ

 

อีกทั้งเงินในบางส่วนที่สัญญาว่า จะให้ก็ถูกตัดทิ้งไปไม่ได้มีการรวมไว้ในเงินชดเชย ทางเราได้ปรึกษากับทนาย และได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ลงประทับรับฟ้องไว้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 63 หลังจากที่บริษัทได้หมายอาญา จู่ ๆก็มีเงินโอนจำนวนหนึ่งเข้ามาในบัญชีของพวกเราประมาณ 2% ของเงินชดเชยทั้งหมด เป็นเวลาสองเดือนเท่านั้น ตรงนี้อยากให้มองว่า ถ้าเราไม่ทำการฟ้องร้อง เงินส่วนเล็กน้อยตรงนี้ก็คงไม่ได้มา เห็นชัดว่า เมื่อเป็นคดีความแล้วการกระทำตรงนี้ของบริษัทเป็นการทำเพื่อสร้างภาพว่า ได้มีความพยายามในการจ่ายเงินแล้ว ชดเชยแล้ว

 

แต่ในมุมมองของพวกเรา บริษัทไม่ได้มีความตั้งใจในการจ่ายเงินเลย เพราะในช่วงเวลาหลังจากที่กลุ่มของพวกเราโดนเลิกจ้างแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ได้มีพนักงานจากแผนกอื่นถูกเลิกจ้างด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้การเลิกจ้างมีผลวันที่ 1 มิถุนายน 63 แต่พนักงานกลุ่มหลังนี้ได้เงินชดเชยครบ และตรงเวลาเป๊ะ

 

เหตุการณ์ล่วงเลยไปจนถึงการขึ้นศาล โดยในขั้นตอนแรกของการขึ้นศาลได้มีการไกล่เกลี่ยบางคนในกลุ่มของพวกเรา และได้มีการตกลงไปแล้วว่าจะจ่ายเงินจำนวนเท่าไหร่ มีการเซ็นในใบไกล่เกลี่ย และรับรองโดยท่านผู้พิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว แต่สุดท้ายแล้วบริษัทก็ไปยื่นล้มละลายโดยหลังจากที่มีการยื่นล้มละลายแล้วหนี้ทุกอย่างของบริษัทจะถูกฟรีสไว้ และทางบริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินให้กับคนในกลุ่มของเราแต่อย่างใด

 

อยากให้ผู้คนได้เข้าใจ และรับรู้ความจริงว่ากลุ่มของพวกเราเจออะไรมาบ้าง พวกเราทุกคนได้มีการช่วยเหลือบริษัทมาตลอดระยะเวลาการทำงานในบริษัท ทุ่มเท รักษาผลประโยชน์ แต่กลับถูกเลือกปฏิบัติ และเลิกจ้างแบบไม่จ่ายเงินชดเชยอีกต่างหาก

 

 

ตัวแทนอดีตนักบินสายการบินนกแอร์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กรณี บจม. สายการบินนกแอร์ เลิกจ้าง-ไม่จ่ายเงินชดเชยนักบินตามกฏหมาย ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล