“สุริยะ” ชง ครม.เคาะลดภาษีเงินได้กระตุ้นซื้อรถยนต์ใหม่

25 ส.ค. 2563 | 01:10 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมชง "ครม." ขอลดภาษีให้คนซื้อรถยนต์คันใหม่ อุ้มอุตสาหกรรมยานยนต์ฝ่าวิกฤติโควิด-19 พร้อมรับข้อเสนอมิตซูฯ ดัน ครม.เคาะให้บีโอไอปรับเกณฑ์หนุน "อีวี"

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรกลุ่มภาคตะวันออก 1 ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (กลุ่มจังหวัดอีอีซี) วันนี้ (25 สิงหาคม 2563) กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอที่ประชุมให้พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ หรือมาตรการอื่น ๆ ในการสนับสนุนเพื่อรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและรองรับสัญญาณแนวโน้มที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ภาพรวมจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564

“กระทรวงจะรายงานภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ภาพรวมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แต่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ดังนั้น เพื่อกระตุ้นแรงซื้อเพิ่มขึ้นจึงจะเสนอให้พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าว”

ทั้งนี้  จากการเดินทางเยี่ยมชมศูนย์การผลิตของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังซึ่งมีแผนจะผลิตรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV) ประเภทปลั๊กอินไฮบริดที่ผลิตนอกญี่ปุ่นครั้งแรกซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนท หรือ “บีโอไอ” (BOI) อย่างไรก็ดี  ยังมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวกับบีโอไอที่ทางมิตซูบิชิฯ จะขอปรับเปลี่ยนดังนั้นจะนำเสนอ ครม.ครั้งนี้เพื่อพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

“สุริยะ” ชง ครม.เคาะลดภาษีเงินได้กระตุ้นซื้อรถยนต์ใหม่

นอกจากนี้  จะเสนอ ครม.ให้อนุมัติก่อสร้างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯ มาตาพุด จ.ระยอง พื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ ที่ปัจจุบันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อ 10 กรกฎาคม 63 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 เปิดดำเนินการได้ไตรมาส 1 ปี 2567

ส่วนความคืบหน้าการโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอีอีซีล่าสุดบริษัทเอ็กซอนโมบิล ได้แจ้งขอชะลอโครงการออกไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการพิจารณาพื้นที่ถมทะเลเพื่อเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนออกไปและให้มองหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นพื้นที่อื่นที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุดเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายแทน

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “กนอ.” กล่าวว่า กนอ.ได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไว้ 4 พื้นที่ได้แก่ 1.พื้นที่บนบก 1,200 ไร่ ซึ่งขณะนี้เป็นคลังสินค้า ลานจอดรถเพื่อการส่งออก  ,2.พื้นที่บนบกที่เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบโรงกลั่น 5,000 ไร่ ,3.พื้นที่ถมทะเลเขาบ่อยาและเขาภูไบทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเป้าหมายถมทะเล 2,500 ไร่ และ4.พื้นที่ถมทะเลเป็นแหล่เก็บตะกอนพื้นที่ 1,875 ไร่

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น เป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี ติอดันดับ 1 ใน 5 ของภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมคอมเพล็กซ์มีจำนวน 5 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงานจำนวน 151 โรง จำนวนแรงงาน 30,000 คน มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย ปิโตรเคมีขั้นกลาง ปิโตรเคมีขั้นปลาย ก๊าซ เคมีภัณฑ์ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน เหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุริยะ” เร่งเครื่องผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารับเป้า 30% ปี 73

“เอ็กซอน” พับแผนลงทุนในไทยมูลค่า 3 แสนล้านไม่มีกำหนด

กนอ.เล็งชง 4 พื้นที่รองรับลงทุนเอ็กซอนฯเสนอ “สุริยะ”

ด้านพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมประมาณ 2,870 ไร่ และระยะที่ 3 ประมาณ 1,000 ไร่ ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีท่าเทียบเรือให้บริการ 12 ท่า การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและเป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยความคืบหน้าการก่อสร้างฯ หลังได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยองแล้ว บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569