“สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย?

12 ส.ค. 2563 | 06:50 น.

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี เตรียมจัดเสวนา “สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย? เดือน ก.ย. ชี้ 10 ล้านลิตร หลังแบนวุ่น เผยมีบริษัทกำจัดแห่งเดียวในประเทศ  ขณะที่ เกษตรกร นับถอยหลัง 19 วันมีครอบครองโทษแรงกว่ายาเสพติด

กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบทั่วประเทศแล้ว  ทั้งป้ายโฆษณารถเคลื่อนที่ และการแจ้งผ่านผู้นำชุมชนให้แจ้งเกษตรกรว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ห้ามครองครองวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราคาวอต และ คลอร์ไพริฟอส หากพบเบาะแสให้แจ้ง ได้ที่ 1. กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

 

ส่วนภูมิภาคแจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา แต่ถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

เพชรรัตน์ เอกแสงกุล

 

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์/กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  สาเหตุที่จัดเสวนา “สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย? ประมาณเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เพราะว่าความเสียหายนอกเหนือจากการแบนสารเคมี ก็คือภาพพจน์ของสารเคมีในสายตาสาธารณชนถูกบิดเบือน ถูกทำให้เป็นเหมือนสิ่งชั่วร้าย ซึ่ง “สารเคมี” เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อยากจะให้เกิดความเข้าใจ

 

“ในภาพของชาวบ้านคงจะเห็นว่าพวกที่อุตสาหกรรมเคมีก็คือ พวกเห็นแก่ตัว เมื่อภาพเป็นอย่างนั้นก็อยากมีเวทีที่จะชี้แจงสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น จะเอาอะไรไปแข่งกับเพื่อนบ้านในตลาดโลกอย่างไรก็อยากจะทำความเข้าใจ ซึ่งจะยกกรณีของ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส  เป็นกรณีศึกษา เพราะฝ่ายมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย  ไปนำชื่อของคนที่คัดค้านการไม่แบนในบอร์ดคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปด่าว่าเป็นคนเลว  จึงมีแนวคิดที่อยากจะหาเวทีเพื่อความเข้าใจและการรับรู้แล้วอยากจะชี้แจงให้เข้าใจว่าทำไมไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมี”

 

นางสาวเพชรรัตน์ กล่าวว่า การแบนง่าย แต่เวลาที่ไปทำลายของที่อ้างว่าเป็นพิษ มลภาวะไปไหน ขณะที่ 110 ประเทศก็ยังสารเคมีตัวนี้กันอยู่ จะจัดการอย่างไร 10 ล้านลิตร มี บริษัท  อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) กำจัดอยู่เพียงบริษัทเดียว เพราะถ้ากำจัดค่าใช้จ่ายตันละ 1 หมื่นบาท ใครเป็นคนรับผิดชอบ?

 

“สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย?

“ในขณะนี้ก็มีหลายบริษัทฟ้องแล้ว เนื่องจากตอนที่ขออนุญาต หรือเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนในรูปแบบต่างๆ แต่พอมาลงทุนแล้วถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เวลาที่จะต้องทำลายภายใน 90 วัน ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาทำไม่ได้ แม้แต่เกษตรกรเอง ก็นับถอยหลังเหลือ ระยะเวลา 19 วัน ที่มีสารเคมีตัวแบนอยุ่จะต้องนำไปคืนร้านค้า ร้านค้าคืนเงินให้หรือไม่ซึ่งเป็นไปไม่ได้  คิดง่าย มีของอยู่ในมือ แต่ไม่ให้ใช้ จะทำอย่างไร ซึ่งไม่มีการเตรียมการเลย แล้วโทษความรุนแรงหนักกว่ายาเสพติดอีก”

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะสื่อสารก็คือ การที่มาอ้างว่า อันตรายเพราะเอาไปรับประทาน ทำให้คนถึงแก่ชีวิต ถามว่า คนจะฆ่าตัวตาย มีสารเคมี 100 กว่าชนิด ที่รับประทานแล้วถึงแก่ชีวิตไม่ใช่แค่ “พาราควอต” อย่าง เกลือแกง ถ้ากินถ้วยเป็นชาม ก็ตายเช่นเดียวกัน ตรงนี้ไม่มีใครสื่อสารให้เข้าใจ กลายเป็นถูกบิดเบือนไปหมด และมีการให้ข้อมูลเท็จด้วย ซึ่งเวทีนี้จะเปิดกว้าง คาดว่าจะจัดประมาณเดือนกันยายนนี้