การใช้พลังงานปี 63 ยังโงหัวไม่ขึ้น

11 ส.ค. 2563 | 08:35 น.

สนพ. ชี้หากเศรษฐกิจหดตัวแรงการใช้พลังงานในประเทศลด 7.9% เผยภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 10.1% ช่วง 6 เดือนแรกปี 63

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ "สนพ."  เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้พลังงานปี 63 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 สภาพัฒน์ฯ คาดว่าในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวลดลงในช่วง -5.0% ถึง -6.0% เนื่องจาก 1. การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

                ,2.การลดลงรุนแรงของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ,3.เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  รวมทั้ง 4. ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 63 ลดลง 5.3% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท โดยการใช้น้ำมันลดลง 14.2% การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 5.4% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลง 1.0%  ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 63 คาดว่าจะลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน

                ในกรณีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรงถึง -9.0% ถึง -10.0% คาดว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลง 7.9% โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 6.3% การใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 4.0% การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 43.5% การใช้ LPG ลดลง 10.9% การใช้น้ำมันเตาลดลง 10.0% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3.0%

การใช้พลังงานปี 63 ยังโงหัวไม่ขึ้น
                อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ  

นายวัฒนพงษ์  ยังได้กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 10.1% จากการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ในขณะที่ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

                สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 สรุปได้ดังนี้

                การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 12.6%  โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 4.3% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง อีกทั้ง การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้การขนส่งสินค้าลดลง การใช้น้ำมันเบนซิน    และแก๊สโซฮอล ลดลง 7.1% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

                โดยภาครัฐได้ออกมาตรการที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน (Work From Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 48.6%  เนื่องจากข้อจำกัดของการอนุญาตให้ทำการบินในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลง 30.2% จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน

                ประกอบกับปริมาณรถยนต์ LPG ที่มีแนวโน้มลดลง  การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 39% มีการใช้ลดลง 18.8% ส่วนภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ลดลง 9.9% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลง 5.9%

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สนพ.” ชี้ “ราคาน้ำมัน” ผันผวนหลังหลายประเทศคลายล็อกดาวน์

“สนพ.” ชี้ “โควิด” ฉุดยอดใช้ เอทานอล ภาคเชื้อเพลิง เม.ย. ลดลง 1.17 ล้านลิตรต่อวัน

การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 8.5% โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 28.8% จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน เนื่องจากราคาอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก อีกทั้งผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง
                การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 0.3% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  ด้านการใช้ไฟฟ้า ลดลง 3.9% โดยลดลงในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมและธุรกิจ จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และภาคการท่องเที่ยว โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock Down ได้แก่ โรงแรม และห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตาม ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และมาตรการทำงานที่บ้าน