ลุยศึกษา “รถรางไฟฟ้าล้อยาง” เชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง

10 ส.ค. 2563 | 06:34 น.

บีทีเอส จับมือ ม.ลาดกระบัง ดันรถรางไฟฟ้าล้อยาง จ่อศึกษา 2 เส้นทางแอร์พอร์ต ลิงก์ ลาดกระบัง - หัวตะเข้ และ ม.ลาดกระบัง-แอร์พอร์ต ลิงก์ลาดกระบัง หวังรองรับผู้โดยสาร 250 คนต่อขบวน คาดโครงการแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี

นายกวิน   กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยภายหลังบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ว่า  สำหรับการร่วมลงนามในครั้งนี้ที่เป็นก้าวสำคัญที่บริษัทฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) มาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางขนาดรอง เชื่อมต่อพื้นที่ภายในสถาบันการศึกษากับระบบขนส่งมวลชนหลัก รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีลาดกระบัง  เป็นการนำความรู้และประสบการณ์ทางระบบรางที่มีมามากกว่า 20 ปี ผนวกกับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ระบบ E-Payment และ Non-Payment ผ่านบัตรแรบบิท ที่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประสบการณ์จริง นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสอันดี ที่ทางบริษัทฯ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน และระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานด้านดิจิทัลอื่นๆ กับสจล. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีผลงานวิจัยมากมาย และยังสามารถนำมาใช้ในการศึกษาเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อีกด้วย

 

อ่านข่าว BTS ปิดดีล รถไฟฟ้าสายสีเขียว ยึด ม.44 ขยายสัญญาแลกหนี้แสนล้าน

อ่านข่าว เปิดขั้นตอน “บัตรคนจน-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”ขึ้น BTS ต้องทำอย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมมือ กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ซึ่งบริษัทฯทั้ง 2 แห่งนี้ที่เป็นเลิศทางด้านธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะทางราง สื่อโฆษณาอสังหาริมทรัพย์  และผู้นำทางด้านเทคโนโนโลยี ด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่  โดยทั้ง 2 บริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาให้มีความสะดวกสบาย ทั้งด้านการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางสัญจรภายในบริเวณสถาบันฯ และเขตชุมชนใกล้เคียง ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากมีทางรถไฟวิ่งผ่านกลางสถาบันฯ มีผู้โดยสารเดินทางมา ขึ้น – ลงจำนวนมาก ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับขี่ แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า – เย็น เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมมลพิษ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมภายในสถาบันฯ สุขภาพของนักศึกษา และประชาชนทั่วไป

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาโดยการศึกษาเส้นทาง “ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง” (Tram Bus) เพื่อใช้เป็นระบบขนส่งมวลชน หลักในการเดินทางของนักศึกษา และบุคคลากรภายในสถาบันฯ ในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แก้ปัญหาจราจร พร้อมทั้งลดมลพิษ ภายในสถาบันฯให้เป็นไปตามนโยบายของทางภาครัฐ  และยังสามารถตอบโจทย์ให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็ว และสะดวกสบายในการเดินทางเป็นหลัก

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สำหรับการศึกษารูปแบบ “ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง” (Tram Bus) ในเบื้องต้นบริษัทฯได้ศึกษาเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ไว้จำนวน 2 เส้นทาง เส้นทางที่1 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากสถานีลาดกระบัง  - หัวตะเข้ ระยะทาง 4 กิโลเมตร  ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่  สถานีพระจอมเกล้า และสถานีหัวตะเข้  เส้นทางที่2 วิ่งรอบภายในพื้นที่ของสถาบัน  และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 

 

ทั้งนี้รถรางไฟฟ้าล้อยาง เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ได้รับความนิยมใช้ตามเมืองหลวงต่าง ๆ ในต่างประเทศ มีลักษณะคล้ายรถโดยสารทั่วไปแต่จะทันสมัยกว่า และมีการพ่วงตู้โดยสาร โดยในรถ 1 ขบวนจะมี 3 ตู้  ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คนต่อขบวน ใช้ความเร็วได้สูงสุด 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีมลพิษเนื่องจากใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ใน 2 เส้นทางจะต้องใช้รถรางไฟฟ้าล้อยาง จำนวน 4 ขบวน ในการให้บริการซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ภายในสถาบันฯ และประชาชนทั่วไป  โดยรูปแบบการใช้บริการสามารถใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง

 

 อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และหากสามารถนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปี โครงการนี้จึงจะเสร็จสมบูรณ์  และเป็นระบบรถรางไฟฟ้าล้อยางแห่งแรก ที่จะวิ่งในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยและจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่น ๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้