“วีรศักดิ์”ลุยหนักดันสินค้าGI 15 ปีสร้างเศรษฐกิจชุมชน 5.3 พันล.

04 ส.ค. 2563 | 09:55 น.

“วีรศักดิ์”เดินหน้าดันสินค้า GI ทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มเศรษฐกิจชุมชน เผยตั้งแต่ปี 48 ถึงปัจจุบันสร้างเม็ดเงินแล้วกว่า 5,378 ล้าน ขึ้นทะเบียนแล้ว 145 รายการ

 

แม้จะมีชื่อติดโผจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)แต่นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 3 องค์กรมหาชนในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ก็ยังเดินหน้าผลักดันงานสำคัญต่อเนื่อง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์นายวีรศักดิ์ถึงภารกิจที่จะเร่งดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งหนึ่งในงานสำคัญคือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI เพื่อคุ้มครองสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย ป้องกันการแอบอ้างของต่างชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย

 

นายวีรศักดิ์  กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบ 100%  ส่งผลให้ครึ่งปีแรกการค้า การลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศของไทยชะลอตัว ดังนั้นในครึ่งหลังของปีนี้ตนเตรียมแผนงานเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการผลักดันการขึ้นทะเบียนและการสนับสนุนสินค้า GI เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ 1.กำหนดสินค้าที่ต้องการคุ้มครอง และการรวมกลุ่มผู้ประกอบการทั้งสายการผลิต เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ การขอขึ้นทะเบียน กำหนดมาตรฐานสินค้า  เป็นต้น 2.การจัดทำระบบควบคุมภายใน การพัฒนาสินค้า การตลาด และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตลอดจนหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นสินค้า

“วีรศักดิ์”ลุยหนักดันสินค้าGI  15 ปีสร้างเศรษฐกิจชุมชน 5.3 พันล.

 

“วีรศักดิ์”ลุยหนักดันสินค้าGI  15 ปีสร้างเศรษฐกิจชุมชน 5.3 พันล.

                                    วีรศักดิ์  หวังศุภกิจโกศล

 

สำหรับสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงปัจจุบันมี 145 รายการ แบ่งเป็น GI ในประเทศ 128 รายการ และ GI ต่างประเทศ 17 รายการ โดยสินค้าใหม่ที่ขึ้นทะเบียนล่าสุดคือหอมแดงศรีสะเกษ และกระเทียมศรีสะเกษ  และอยู่ระหว่างลงนามสินค้า GI คือ ลำไยลำพูน และพริกไทยจันทบุรี ทั้งนี้การส่งเสริมและคุ้มครอง GI ของไทยนั้นสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจชุมชนกว่าแล้ว 5,378 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรผ่านช่องทางการตลาดกว่า 18 ล้านบาท  และในส่งเสริมการขายสินค้าผ่านออนไลน์ในช่วงโควิด-19 มียอดขายกว่า 15 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 เดือน

 

โดยล่าสุดได้จัดโครงการ “ร่วมใจ ช่วย GI ไทย พ้นภัยโควิด” โดยใช้ Facebook Fanpage : GI Thailand เป็นสื่อกลางแนะนำสินค้า GI  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบไปรษณีย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามชีวิตวิถีใหม่(New Normal) ที่คนหันมาใช้ช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยมีเป้าหมายผู้เข้าถึงข้อมูลในช่วง 30 วัน ไม่น้อยกว่า 2 ล้านครั้ง โดยในช่วง 10 วันหลังเปิดโครงการ (5 มิ.ย.63) สามารถสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการกว่า 1 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

 

“หากไวรัสคลี่คลาย ผมยังมีแผนที่จะจัดงานกระจายการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ในรูปแบบ GI Market จำนวน 2 ครั้ง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคได้”

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563