“คมนาคม” ทลายทุกข้อจำกัดแก้ปากท้องประชาชน

01 ส.ค. 2563 | 05:24 น.

“คมนาคม” สัมมนาเชิงปฏิบัติการ  ทลายทุกข้อจำกัดเพื่อแก้ปัญหาให้กับปากท้องประชาชน ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ

 

 

 

 

 

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ” โดยมีข้าราชการ บุคคลากรด้านนโยบายแผนงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 200 คน วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมอมารี พัทยาเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี  

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินงานตามภารกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะการพัฒนาด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ประชาชนต้องได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด ในการเดินทางทุกรูปแบบ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานตามนโยบายครบรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ติดตามการดำเนินงานของแผนงาน โครงการต่าง ๆ ของทุกหน่วยงาน กำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการ ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และภายหลังการสัมมนาจะต้องถอดบทเรียนและทบทวนผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน เพื่อทบทวนและเตรียมการสำหรับแผนงานและโครงการในอนาคต เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความสุขของประชาชนคนไทยทุกคน "ทลายทุกข้อจำกัดเพื่อแก้ปัญหาให้กับปากท้องประชาชน"

 

 

 นอกจากนี้  มอบหน่วยงานในสังกัดทบทวนผลการดำเนินงานปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เสริมสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน โดย แบ่งกลุ่มสัมมนา ฯ ตามกลุ่มภารกิจ (ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ) ดังนี้ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางถนนประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 2. กลุ่มการขนส่งทางบกประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และสนข. 3. กลุ่มการขนส่งทางรางประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และสนข. 4. กลุ่มการขนส่งทางน้ำประกอบด้วย กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสนข. 5. กลุ่มการขนส่งทางอากาศประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และสนข.

โดยสรุปผลการประชุมสัมมนา ดังนี้1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางถนน โดยมี ทล. (หัวหน้ากลุ่ม) ทช. กทพ. สนข. ได้แก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้าที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด เช่น โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 การแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ โดยการตรวจสอบสภาพรถ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การกำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งศึกษาและจัดทำแผนแก้ปัญหาด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ให้รถสามารถผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางฯ ได้อย่างรวดเร็ว ลดความแออัดของรถบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางฯ การศึกษาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท (ทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โทลล์เวย์)

ตั้งแต่ 5 - 10 บาท โดยต้องไม่มีผลกระทบต่อสัญญากับเอกชน และส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพาราในโครงการต่างๆ เช่น วัสดุกั้นถนน หลักเขตบอกทาง หมอนรางรถไฟ เพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง

  2. กลุ่มการขนส่งทางบก โดยมี ขบ. (หัวหน้ากลุ่ม) ขสมก. บขส. สนข. ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ด้านการขนส่งสินค้า มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนน

ของประเทศตามแผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เพื่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

แผนงานที่จะดำเนินการในปี 2564 – 2565 ที่สำคัญ คือ โครงการศึกษาบูรณาการแบบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าของประเทศเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อขยายสถานีขนส่งสินค้าชานเมือง ด้านการขนส่งผู้โดยสาร การเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัส โดย ขบ. ได้มีการศึกษาทั้งด้านความปลอดภัยและความคุ้มค่า และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นควรให้รถตู้โดยสารมีอายุไม่เกิน 10 ปี สำหรับรถโดยสารประจำทางสายยาวและระหว่างจังหวัด (หมวด 2 หมวด 3) ส่วนการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัสในเมือง (หมวด 1 หมวด 4) เป็นภาคสมัครใจ ยกระดับการใช้บริการรถแท็กซี่เพื่อไปสู่การเป็น Smart Taxi โครงการยกระดับ Smart Bus Terminal   เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ การบริการรถโดยสารเชื่อมต่อระบบ Feeder Services และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้านการความปลอดภัย ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยจัดให้มีผู้จัดการความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน (Transport Safety Manager) มาตรการ Check คน Check รถ Checking Point ต่อยอดระบบ GPS ในรถสาธารณะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ และการพัฒนาศูนย์ขับรถจำลอง (Bus Simulator) ของ บขส. ผลงานด้านการเสริมสร้างความยั่งยืนของประเทศ เป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ยกระดับสถานตรวจสภาพรถของรัฐและเอกชน การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานเครื่องยนต์ การส่งเสริมการเดินทางด้วยรถสาธารณะมาตรการด้านภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลงานการเป็นรัฐบาลดิจิทัล หน่วยงานได้พัฒนาระบบการกำกับดูแล และพัฒนาการให้บริการประชาชนโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล และเป็นการดำเนินการรูปแบบใหม่ (New Normal) โดยมีการอบรมผ่านระบบ e-learning สำหรับผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ และการจองคิวการดำเนินการผ่าน DLT Smart Queue การแสดงใบอนุญาตขับรถได้เสมือนจริง (DLT QR Licence) รวมทั้งได้มีการพัฒนาการชำระภาษีรถประจำปีผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax การพัฒนาระบบ e-Service การพัฒนาระบบสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ บขส.

  3. กลุ่มการขนส่งทางราง โดยมี ขร. (หัวหน้ากลุ่ม) รฟม. รฟท. รฟฟท. สนข. ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการขนส่งทางราง ซึ่งมีแผนงานโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟระหว่างเมือง เพื่อขับเคลื่อนทางคู่และทางสายใหม่ การลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน สำหรับผลงานในปี 2563 ด้านการบริหารจัดการรถไฟระหว่างเมือง การก่อสร้างที่หยุดรถไฟวุฒากาศ สายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย การรักษาระดับการให้บริการในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการใช้บริการ รวมถึงการลดอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ และการตรึงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จนถึงสิ้นปี 2563 การพัฒนาการเชื่อมต่อการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม/ทุกระบบ ล้อ ราง จํานวน 13 สถานี การพัฒาระบบตั๋วร่วมแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะสั้น แมงมุม/ MRT Plus/Rabbit รองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน – สีม่วง - สีเขียว ภายในปลายปี 2563 และบัตรแมงมุม/MRT Plus รองรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ภายในปลายปี 2563 บัตร EMV (บัตรเครดิต) และเชื่อมโยงกับการเดินทางทุกระบบ ภายในปลายปี 2565 การเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ ในปี 2564 คาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้บางส่วน และลงนามสัญญาและก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์ การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และการ คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต การศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้า ฉบับที่ 2 (M-MAP2) การศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมรถไฟกับนิคมอุตสาหกรรม

4. กลุ่มการขนส่งทางน้ำ โดยมี จท. (หัวหน้ากลุ่ม) กทท. สนข. สรุปผลการสัมมนาการพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำมีการดำเนินงาน ได้แก่ การพัฒนายกระดับมาตรฐานท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวก ปลอดภัย เตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่ง พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นประตูการขนส่งสินค้าสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับสินค้า การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation) และท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) สนับสนุนท่าเรือแหลมฉบัง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางน้ำ ร่องน้ำและการเดินเรือภายในประเทศ เช่น การพัฒนาร่องน้ำป่าสักให้การเดินเรือในลำน้ำภายในประเทศ การขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ และในปี 2564 กระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และในปี 2564 - 2565 พัฒนาท่าเรือเกียกกาย ท่าบางโพ รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าเรือเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการขุดลอกฟื้นคืนสภาพร่องน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง สำหรับการพัฒนาสถานี/เรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้นําร่องพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระราม 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนของกรมเจ้าท่า (MD digital Service) และการเชื่อมโยง Data Logistic Chain และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community)

  5. กลุ่มการขนส่งทางอากาศ โดยมี กพท. (หัวหน้ากลุ่ม) ทย. ทอท. บวท. สบพ. รทส. สนข. สรุปผลการดำเนินงานและแผนงาน/โครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาคให้สามารถรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนต่อปี โครงการพัฒนาสนามบินหลัก โครงการพัฒนาสนามบินภูมิภาค โครงการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ ทอท. มีแผนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน จำนวน 2 เชียงใหม่แห่งที่ 2 สนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ให้สามารถบริการประชาชนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้นโดยจะมีการตรวจสอบ ควบคุม เพื่อให้คุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานสากล ได้แก่ สายการบินต้นทุนต่ำเปิดบริการในเส้นทางบินใหม่ ดังนี้ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - นครศรีธรรมราช / นครศรีธรรมราช - ขอนแก่น / อุดรธานี - สุราษฎร์ธานี / หัวหิน - อุดรธานี / หัวหิน - เชียงใหม่ และการขับเคลื่อนสู่อนาคต การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสนามบิน การบริการการเดินอากาศ และการจัดสรรเวลาการบิน และการรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย เพื่อเป็นที่ยอมรับของสากล

  การจัดสัมมนาในวันนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ติดตามการดำเนินงานของแผนงาน โครงการต่าง ๆ ของทุกหน่วยงาน รวมทั้งร่วมกันถอดบทเรียน ทบทวนผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการ เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อก้าวไป สู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความสุขของประชาชนคนไทยทุกคน