นัด 10 เอกชน จ่อยื่นข้อเสนอ ชิงสัมปทาน “สายสีส้ม” ก.ย. นี้

29 ก.ค. 2563 | 09:50 น.

รฟม. เผยนัด 10 เอกชน ดึงร่วมลงทุนพีพีพี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังเอกชน 10 ราย แห่ซื้อซองประมูล เตรียมยื่นข้อเสนอภายในเดือน ก.ย. นี้

 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียด แก่เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ถึงประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรืองานในสัญญา รวมถึงรายละเอียดการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเอกสารข้อเสนอฯ สำหรับการร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และการซ่อมบำรุงรักษา ต่อไป

 

อ่านข่าว ‘BEM-BTS’ ชิงเค้ก "รถไฟฟ้า สายสีส้ม" 1.4 แสนล.

อ่านข่าว เตือน! ระวังค่าโง่ รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มตะวันตก’  ติดหล่มเวนคืน 

โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้เปิดจำหน่ายเอกสารประกอบการจัดทำข้อเสนอฯ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 และมีบริษัทเอกชนสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอฯ สายสีส้มฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่

 

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด

10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

นัด 10 เอกชน จ่อยื่นข้อเสนอ ชิงสัมปทาน “สายสีส้ม” ก.ย. นี้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีสุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ - สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) รวมถึงงานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไป รฟม. มีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกันยายน 2563 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนธันวาคม 2563