"การรถไฟ" ดันประมูล2ทางคู่‘เหนือ-อีสาน’ปลายปี

01 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

รฟท.-รฟม.เข็นอีก 3 โปรเจ็กต์ยักษ์ ทางคู่สายเหนือ-อีสาน รถไฟฟ้าม่วงใต้ กว่า 2แสนล้าน ดันประมูลปลายปี 63 หลัง กดปุ่ม สายสีส้ม ยื่นซองก.ย.ขณะที่แทรมภูเก็ต-เชียงใหม่ ประกาศประมูลต้นปี 64 สายสีแดง เร็วสุด ไตรมาส 2 ปีหน้า ด้านรับเหมาสุดคึก

นอกจากรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ –มีนบุรี มูลค่า 1.4แสนล้านที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กดปุ่มให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาในเดือนกันยายนนี้แล้ว ปลายปีนี้ ถึงคิวสายสีม่วงใต้ มูลค่า 1.2 แสนล้าน และรถไฟทางคู่อีก 2 เส้นทางสายเหนือ-อีสาน มูลค่า กว่า 1 แสนล้านบาท สร้างความคึกคักไม่น้อยให้กับผู้รบเหมา

นายนิรุฒ มณีพันธุ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รถไฟทางคู่ที่คาดว่าเตรียมเปิดประมูลในปลายปี 2563 มีทั้งหมด 2 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราง-เชียงของ วงเงิน 58,110 ล้านบาทและทางคู่สายใหม่บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 44,648 ล้านบาท

“ทั้ง 2 โครงการที่ประมูลปลายปี 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามกฏหมายส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 อยู่ระหว่างพิจารณาของสภาพัฒน์ ซึ่งเราอยากให้พิจารณาเสร็จโดยเร็ว เพราะต้องการดำเนินการได้เลย”

ด้านการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมประกาศประกวดราคางานโยธา มูลค่า 1 แสนล้านบาท งานระบบ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ปลายปีนี้ คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมี.ค. 2570

ขณะรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท หลังขายซองประมูลแล้ว โดยกำหนดยื่นซองได้ เดือนกันยายนนี้

ผู้ว่ารฟม. กล่าวต่อว่า สำหรับรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต (แทรม) ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เริ่มประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2564 ส่วนรางเบาเชียงใหม่ ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกเเม่เหียะสมานสามัคคี วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท เริ่มประกาศประกวดราคาภายในครึ่งปีแรกปี 2564 และ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ช่วงตลาดเซฟวัน- สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงิน 8 พันล้านบาท เริ่มประกาศประกวดราคาได้ภายในปี 2564 หลังแทรมป์ภูเก็ตและเชียงใหม่เปิดประมูลแล้ว

แหล่งข่าวจากรฟม. กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ แทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ รฟม. พิจารณาเห็นชอบตามพระราชบัญญัติ (พรบ.)การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569

ส่วนแทรมเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง15.8 กม. 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีบนดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา เมื่อสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 96% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

ด้านรางเบานครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 85% คาดว่าพร้อมเปิดบริการได้ปี 2568

สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สายสีแดง ขณะนี้จะดำเนินการลงทุนรูปแบบPPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงเอง ทั้งนี้รฟท.จะเปิดพีพีพีแบบรวมสัญญาของการเดินรถ ทั้งบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟสายสีแดง และงานโยธาสร้างส่วนต่อขยายด้วย

“ที่ผ่านมาบอร์ดได้อนุมัติในหลักการ และสั่งการให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของการจัดทำพีพีพี โดยต้องระบุว่าเหตุผลของการทำพีพีพีเพราะอะไร มีความคุ้มค่าอย่างไร ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคม คนร.และครม.ต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วสุดภายในไตรมาส2 ปี2564 หรือช้าสุดในไตรมาส 3 ปี 2564”

หน้า 11  ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563