"คมนาคม"  ลุย ระบบขนส่ง 4มิติ" บก-ราง-น้ำ-อากาศ"

15 ก.ค. 2563 | 09:55 น.

"คมนาคม" ลุยพัฒนาระบบขนส่ง 4 มิติ เดินหน้าโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์ 2 สาย ชงครม.สัปดาห์หน้า ด้านรถไฟไทย-จีน รอเซ็นสัญญาต.ค.นี้ ยันยันกรณีทหารอียิปต์ติดโควิด-19 เชื่อสื่อสารคลาดเคลื่อนเชิงปฏิบัติ

"คมนาคม"  ลุย พัฒนาระบบขนส่ง 4มิติ

 

 

 

 

 

 

นายศักดิ์​สยาม​ ชิด​ชอบ​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​คมนาคม​ เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ​และเสวนา MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจ​หลัง โควิด-19 ว่า ในส่วนของการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกได้เร่งรัดการพัฒนาทำให้เกิดการเชื่อมโยงความเจริญสู่หมู่บ้านชุมชนเพื่อให้สามารถสัญจรได้สะดวกโดยมีแผนการดำเนินการทางประเทศภายใต้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเชื่อมถนนของกรมทางหลวงชนบทเข้าสู่ถนนสายหลักของกรมทางหลวงและเชื่อมโยงแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ

 

ขณะที่ นโยบายด้านระบบคมนาคมทางน้ำได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือขนาด และท่าเทียบเรือน้ำลึกรวมทั้งโครงการร่วมการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันโดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความเจริญให้กับประเทศและทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนการคมนาคมทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยานควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบินและผักต่างประเทศไทยให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากลเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและการส่งเสริมการค้าการลงทุนได้แก่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาคทั่วประเทศ​ การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

 

"กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะรับฟังความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหลังโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าดำเนินการอยู่บนมาตรฐานของกระทรวง สาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องโดยที่ไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมากเกินไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการขับเคลื่อนด้านคมนาคมจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน" นายศักดิ์สยามกล่าว

 

 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา M6 ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว เข้ามาดำเนินงานและการบำรุงรักษาต่อไป คาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ราว 36-37% หรือวงเงิน 21,329 ล้านบาท จากราคากลาง 33,258 ล้านบาท ขณะที่สายบางใหญ่-กาญจนบุรี M9 ระยะทาง 96 กม. ได้มีการดำเนินการแก้ไขแล้วภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้มีการปรับงบประมาณค่าเวนคืนที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่ดินในปัจจุบัน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2565-2566

 

ด้านความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน ขณะนี้ได้มีการหารือกับทางรัฐบาลจีน ซึ่งได้ข้อสรุปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งร่างสัญญาในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย คาดว่าจะลงนามเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนต.ค. 2563 ตามแผน

 

 

นายศักดิ์สยาม​ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือถึงข้อสรุปของแผนดังกล่าว โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อยุติแผนฟื้นฟูขสมก.และจะนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ภายในต้นเดือนส.ค.นี้

 

 

 

 

สำหรับแผนฟื้นฟูฯที่ได้มีการเสนอก่อนหน้านี้ จะใช้วิธีจัดหารถให้บริการ โดยการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง ซึ่งเอกชนจะต้องหารถปรับอากาศ พนักงาน เชื้อเพลิง และที่จอดรถทั้งหมด โดยเป็นการรับจ้างวิ่ง ขณะเดียวกันในส่วนการจองเส้นทางเดินรถให้บริการ ส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 30 บาทตลอดวัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละ 2 ล้านคน ทำให้ ขสมก.มีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 60 ล้านบาท โดยคุ้มค่าต่อการให้บริการและในแผนกำหนดว่าภายใน 7 ปี หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ที่คาดว่าจะมีการเสนอภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA จะเป็นบวกในปี 2572

 

 

 

 

 

 

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กรณีทหารอียิปต์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมยืนยันโดยยึดมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่แล้วขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้เข้าไปควบคุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดแล้ว

 

"ส่วนเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 2) 11 กลุ่ม ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. จะดำเนินการแก้ไขหรือไม่นั้น มองว่า เป็นความคลาดเคลื่อนในทางปฏิบัติซึ่งเราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรและจะดำเนินการโดยใช้มาตรฐานสาธารณสุขเป็นเกณฑ์และต้องเอาเคสดังกล่าวมาเป็นบทเรียน ทบทวนและดำเนินการตามมาตรการของสาธารณสุขเพื่อป้องกันการเกิดการแพร่รระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง"