ปัดอุ้ม “ครัวการบิน” 8 หน่วยงานคมนาคมขอเยียวยากระหึ่ม

11 ก.ค. 2563 | 07:10 น.

“คลัง” ปัดอุ้ม “บริษัทครัวการบินกรุงเทพ” กู้ 200 ล้านเสริมสภาพคล่อง “คมนาคม” ลุ้น สภาพัฒน์ ไฟเขียวเยียวยาโควิด 6.6 พันล้านหลัง 8 หน่วยงานจ่อของบเพียบ

ระบบคมนาคมขนส่ง ทั้ง “บก- ราง- น้ำ –อากาศ” ได้รับผลกระทบนโยบายห้ามเดินทาง จากการมาของโควิด-19 และเมื่อสถานการณ์คลีคลาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงขอ จัดสรรงบเยียวยา ผ่อนผันบรรเทาหนี้ ตลอดจนการ ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่อง แต่มีหลายหน่วยงานต้องนำกลับไปทบทวน บางรายปฏิเสธการช่วยเหลือ

 

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานการประชุมพิจารณา ข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของ ภาคคมนาคมขนส่ง ครั้งที่ 3/2563 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอมาตรการดังกล่าวของ 8หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เสนอขอรับจัดสรรเงินกู้ภายใต้ พระราชกำหนด(พรก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน6,612.324 ล้าน อาทิ กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ,การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ฯลฯ

 

ขณะ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขออนุมัติวงเงินกู้ 200 ล้านบาท ของ บริษัทครัวการบินกรุงเทพจำกัด เนื่องจากยื่นกู้กับธนาคารพาณิชย์ไว้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากโควิดกระทบกระแสเงินสด และคาดว่าสามารถดำเนินกิจการได้เพียง 2-3 เดือน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ทอท.ได้พิจารณาแล้วว่ากิจกรรมครัวการบิน มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศ หากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้จะกระทบในภาพรวมของท่าอากาศยานฯตามมา ทั้งนี้กระทรวงการคลัง พบว่า บริษัทครัวการบินกรุงเทพ จำกัด เป็นบริษัทเอกชนที่ถือหุ้น 90% เป็นหน่วยงานที่เอกชนดำเนินการ ซึ่งการขอกู้เงินดังกล่าวจึงไม่เป็นหนี้สาธารณะ รวมถึงการพิจารณาการกู้เงินระหว่างเอกชนและธนาคารพาณิชย์อยู่นอกเหนืออำนาจของ สบน. จึงขอให้ทอท.และบริษัทฯ หารือกับธนาคารโดยตรง

 

ขณะเดียวกันยังรับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไม่เข้าข่าย พรก. ให้อำนาจ เช่น มาตรการด้านพลังงาน โดย ขบ. เสนอตรึงราคาเชื้อเพลิง NGV และน้ำมันดีเซล ถึง 31 ก.ค. หลังจากนั้นปล่อยลอยตัว ให้อยู่ในราคาที่ 75%ของน้ำมันบี 10 รวมถึงให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีบัตรส่วนลดพลังงานของบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน สามารถลงทะเบียนเพื่อซื้อ NGV ได้ในราคาที่ต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป

 

ส่วน บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) ขอให้จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และการค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 3,920ล้านบาท ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้กลับไปตรวจสอบตัวเลขใหม่ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้ง กรมเจ้าท่า (จท.) ขอจัดหาแหล่งเงินกู้ให้สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย 1,820 ล้านบาท ที่ประชุมขอให้กลับไปทบทวนตัวเลขที่ได้รับผลกกระทบที่แท้จริงและนำกลับมาเสนอใหม่

ปัดอุ้ม “ครัวการบิน”  8 หน่วยงานคมนาคมขอเยียวยากระหึ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คมนาคม" ชง สภาพัฒน์ เคาะเยียวยาโควิด 6.6 พันล.

“คมนาคม” ยันไม่มีสิทธิคุม "การบินไทย”

ด้าน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอเลื่อนชำระเงินคืนเงินยืมรัฐบาล จำนวน 2 สัญญา ออกไป 2 ปี จากปี 2563 เป็นปี 2565 โดยปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 500 ล้านบาท ทั้งนี้สบน. ให้ กทพ.ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้รับผลกระทบโควิด-19 จนไม่สามารถชำระเงินคืนเงินยืมได้ รวมถึงต้องแสดงสถานะกระแสเงินสดในปี 2563 และปี 2564 เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องของ กทพ. ซึ่งกระทรวงการคลังจะเห็นชอบให้เลื่อนการชำระเงินคืนเงินยืมภายใต้สัญญาที่ กทพ.ต้องการได้ ต่อเมื่อสภาพคล่องของกทพ. ไม่เพียงพอจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อดำเนินการ

 

สำหรับมาตรการอื่นๆทาง สมาคมเจ้าของเรือไทย ขอลดค่าเช่า ระยะเวลา 1 ปี วงเงิน 348 ล้านบาท เบื้องต้นการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาต่อผู้เช่าทรัพย์สินที่เป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ยกเว้นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทมหาชน วงเงิน 33 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. –ก.ค.2563 โดยลดค่าเช่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้เช่าที่เช่า อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และผู้เช่าประกอบธุรกิจ โดยเรียกเก็บค่าเช่าในอัตรา 50% ของค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแต่ละสัญญา ขณะเดียวกันได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่าเรือภูมิภาคในการจัดทำเงื่อนไขการใช้พื้นที่ของท่าเรือระนอง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และท่าเรือเชียงของ รวมถึงท่าเรือที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ยกเว้นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ วงเงิน 1.634 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2563

ขณะที่ กรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอให้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการก่อสร้างบำรุงรักษาทางและงานจ้างที่ปรึกษา โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องการขยายเวลาดำเนินการตามสัญญา และการงดค่าปรับ โดยกรมบัญชีกลางจะออกประกาศให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ รวมถึงการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

 

นอกจากนี้ บขส.ขอลดหย่อนค่าเช่าที่ดินย่านพหลโยธินของ รฟท.และ กทพ.บริเวณอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพจตุจักร จำนวน 21.816 ล้านบาทต่อปี และบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารขนาดเล็กจตุจักร (ใต้ทางด่วน) แบ่งเป็นค่าเช่าที่ดินจาก รฟท. จำนวน 24.624 ล้านบาทต่อปี และค่าเช่าที่ดินจาก กทพ. จำนวน 3.120 ล้านบาทต่อปี โดยรฟท.จะช่วยเหลือในการปรับลดสัญญาเช่าแก่บขส. หากได้รับผลกระทบตามมาตรา 9 ของการประกาศของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ กทพ.จะให้ความช่วยเหลือในส่วนของสัญญาเช่าตามที่ บขส.เสนอ โดยไม่รวมในกรณีสัญญาเช่าที่ดินหน่วยงานราชการ สัญญาเช่าเพื่อปักเสาพาดสายต่างๆ เช่น เสาพาดสาย ท่อลอด ถนนและสัญญาปิดทางเข้า-ออก รวมทั้งสัญญาเช่าตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม.ยังไม่ได้ชำระเงินและยังไม่ได้จัดทำสัญญาเช่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมจะสรุปมาตรการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกให้ชัดเจนอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563