งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9.2 หมื่นล้าน ความคาดหวังจ้างงาน 4 แสนราย

11 ก.ค. 2563 | 08:35 น.

ทยอยออกมาเป็นระยะๆ สำหรับการพิจารณากลั่นกรอง ข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้แผนงานหรือ โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วจำนวน 7 โครงการ วงเงิน 37,920 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้แก่ โครงการเราไปเที่ยวกัน และ โครงการกําลังใจ รวม 22,400 ล้านบาท แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2 โครงการ รวม 14,593.6 ล้านบาท และ แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จำนวน 3 โครงการ รวม 926.46 ล้านบาท 

 

จากที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณารอบแรกจำนวน 186 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 92,400 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากราว 5 หมื่นล้านบาท  แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนราว 2 หมื่นล้านบาท และแผนงานการกระตุ้นอุปโภคบริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยว 2.24 หมื่นล้านบาท 

 

ทั้งนี้ จะทำให้เหลืออีก 179 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 54,480 ล้านบาท  แบ่งเป็น โครงการจากส่วนราชการ 24 โครงการ วงเงินรวม 53,480 ล้านบาท และโคงการจากส่วนจังหวัด 155 โครงการ วงเงินรวม 1 พันล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ผ่านความเห็นชอบเบื้องต้นแล้วและอยู่ระหว่างการปรับปรุง เพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากครม.ต่อไป

 

สศช.ชี้ให้เห็นว่า การกลั่นกรองโครงการและจำนวนเงินที่ลดลงอย่างมาก จากที่เสนอขอใช้งบทั้งสิ้น 46,411 โครงการ วงเงินประมาณ 1.45 ล้านล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องการเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพ สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการและการลงทุน รวมถึงเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ

 

 

งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9.2 หมื่นล้าน ความคาดหวังจ้างงาน 4 แสนราย

 

ที่ต้องเน้นกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศหายไปอย่างฉับพลัน ผู้ประกอบการรายย่อยขาดกำลังทุน และประชาชนขาดกำลังซื้อ เมื่อปัจจัยเหล่านี้พึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศแทน

 

ส่วนโครงการที่ตัดออกไปนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่เข้าข่าย แต่ได้เปิดให้หน่วยงานต่างๆ เสนอขอใช้งบเข้ามาใหม่ในรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา และจะพิจารณากลั่นกรอง เสนอเข้าครม.ได้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เคาะโครงการฟื้นฟูศก.ระยะแรก 1 แสนลบ.เน้นช่วยด้านเกษตร-แหล่งน้ำ

เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ปรอทแตก! ยื่นขอใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจพุ่ง 1.36 ล้านล้าน

สำหรับการคาดหวังการใช้เงินกู้รอบแรก 9.2 หมื่นล้านบาทนี้ ทางสศช.ประเมินว่าจะช่วยประคองไม่ให้ จีดีพีของประเทศไทยหดตัวลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้น โดยจะช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 79,604 หมู่บ้าน และ 3 พันตำบล สร้างมูลค่าผลผลิตใหม่ประมาณ 1.8-2 เท่าของมูลค่าโครงการ เกิดเกษตรแปลงใหญ่/เกษตรสมัยใหม่ เพิ่มขึ้น 5,450 แปลง 5 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 262,500 ราย เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่ เกษตรกรมีพัฒนานวัตกรรมในเศรษฐกิจชีวภาพกว่า 4 แสนราย เพิ่มยอดขายได้กว่า 10% ลดต้นทุนได้กว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มกว่า1,000 ล้านบาทต่อปี

 

เพิ่มพื้นที่ป่าไม้กว่า 1.7 แสนไร่และพัฒนาแหล่งนํ้าชุมชน 7,915 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งพัฒนาต้นแบบสําหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด -19 กว่า 7 พื้นที่ ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 ราย บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 ราย จากการกระตุ้น การท่องเที่ยวภายในประเทศ จํานวนกว่า 2.0 ล้านคน/ครั้ง ที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ทางตรงให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท

 

งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9.2 หมื่นล้าน ความคาดหวังจ้างงาน 4 แสนราย

 

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าการใช้งบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ คงจะไม่มีการอนุมัติใช้งบทั้งหมด4 แสนล้านบาท เพราะจะต้องกันไว้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกก้อนหนึ่ง โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563