"ก.อุตสาหกรรม" เดินหน้าสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ "ชัยภูมิ"

10 ก.ค. 2563 | 06:10 น.

"กกระทรวงอุตสาหกรรม" เดินหน้าสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ "ชัยภูมิ" เสริมแกร่งเศรษฐกิจ "ชุมชนห้วยยายจิ๋ว"

กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” เสริมศักยภาพชุมชนห้วยยายจิ๋ว ขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรห้วยยายจิ๋ว ต่อยอดสู่การบริหารจัดการและพัฒนากลุ่มของชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญากับการท่องเที่ยว ยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนสู่เมือง ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในชุมชน

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องจากภาคการเกษตร ถือเป็นหนึ่งใน 4 ของกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ล่าสุด นำทีมกรมอศ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมแนวทางการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ

ชมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ พร้อมดำเนินโครงการ “ห้วยยายจิ๋ว จิ๋วแต่แจ๋ว” เพื่อสร้างผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ และเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรห้วยยายจิ๋วตลอดจนผู้อยู่ในห่วงโซ่อุทานเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ห้วยยายจิ๋ว ผ่าน 2 กิจกรรม ประกอบด้วย

"ก.อุตสาหกรรม" เดินหน้าสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ "ชัยภูมิ"

กิจกรรมฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ การสร้างนักธุรกิจเกษตรเบื้องต้น การสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตร นักธุรกิจเกษตรแบบดีพร้อม เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรม

กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตชุมชน

นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กสอ. กล่าวว่า กสอ. โดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับส่วนกลาง ระดับชุมชน และระดับอำเภอ จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “การสร้างนักธุรกิจเกษตรเบื้องต้น” ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” การขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม

"ก.อุตสาหกรรม" เดินหน้าสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ "ชัยภูมิ"

สร้างแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และแนวทางการพัฒนาห้วยยายจิ๋วสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับจากวิถีการทำเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่” (NEC Local Economy) ที่มีกระบวนการคิด วางแผนในรูปแบบใหม่ รวมถึงเน้นให้เกิดการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงทางการตลาดแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพจากเกษตรกร

ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนห้วยยายจิ๋วกว่า 7.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.87 เท่า ผ่านการเกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ จำนวน 20 ราย โดยกว่า 50% ของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 200,000 บาทต่อปี และกว่าร้อยละ 20 ของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,000 บาท หรือ 200,000 บาท 

เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ไก่อบโอ่ง แจ่วมะเขือเทศ พริกผัดเอนกประสงค์ ข้าวเกรียบกลอย น้ำมันกลอย มะเขือเทศหยี และมะเขือเทศบัดดี้ ที่สามารถสร้างรายได้จากการจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4,141,720 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดการรวมกลุ่มในพื้นที่ถึง 5 เครือข่าย

“กสอ. ยังผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญากับการท่องเที่ยวผ่านโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village) หรือ CIV ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญา ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวแบบคนท้องถิ่น พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตภายในชุมชน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนกลับไป อันจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนสู่เมือง ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในชุมชน”