ความมั่นคงพลังงาน ผลิตก๊าซต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

10 ก.ค. 2563 | 04:10 น.

ในวงการพลังงานมีการพูดกันอย่างหนาหูและมีความกังวล ต่อกรณีการผลิตก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากสิ้นสุดสัมปทานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2565 ได้หรือไม่ เนื่องจากเหลือระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แต่ทางกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ผู้ดำเนินงานต่อจากเชฟรอนฯยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ในการวางแผนติดตั้งแท่นหลุมผลิต การขุดเจาะหลุม และติดตั้งเรือ  กักเก็บปิโตรเลียมได้

เจรจายังไม่ได้ข้อยุติ

แม้ว่าทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเชฟรอนฯ ปตท.สผ.และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้ให้สิทธิ์สัญญาพีเอส จะมีการหารือและต่างยืนยันว่าจะร่วมกันดำเนินงานไม่ให้การผลิตก๊าซฯในช่วงรอยต่อนี้เกิดการสะดุด แต่ในเชิงเนื้อในแล้วกลับพบว่า การดำเนินงานยังมีอุปสรรคหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงนามได้เมื่อใด เพราะเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ ที่นำไปสู่การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การวางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ และการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 1 ได้ขอแยกการเข้าพื้นที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวไว้  กระทำได้เพียงการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมและสำรวจพื้นผิวอื่นๆ เท่านั้น 

ความมั่นคงพลังงาน ผลิตก๊าซต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

หวั่นกระทบการผลิต

การให้ความร่วมมือการเจรจา แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลงในการเข้าพื้นที่ได้ เพราะเชฟรอนมีเงื่อนไขผูกติดไว้ ที่เกรงว่าการเข้าพื้นที่ของปตท.สผ. เพื่อเจาะสำรวจ  เจาะหลุมผลิต ติดตั้งแท่นผลิต จะกระทบระบบการผลิตปัจจุบัน รวมทั้งข้ออ้างต้องกลับเข้าพื้นที่เพื่อรื้อถอนแท่นหลุมผลิตที่หมดอายุสัมปทานแล้ว ที่เชฟรอนพยายามจะผลักดันดำเนินการ      ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้ แต่ติดปัญหาว่า รายละเอียดของแผนการรื้อถอน ที่ส่งให้กับ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังไม่ได้  รับการอนุมัติเห็นชอบ เพราะติดปัญหาการเจรจาเรื่องการวางหลักประกันคารื้อถอน ที่รัฐจะนำแท่นหลุมผลิตไปใช้งานต่อยังไม่ได้ข้อยุติ

งานปตท.สผ.ชะงัก

ความไม่ชัดเจนในการบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ในเวลานี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของยังปตท.สผ.กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก ไม่สามารถอนุมัติแผนงาน แผนการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ในส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเข้าพื้นที่ทั้งหมดได้ ม่าจะเป็น การติดตั้งแท่น การเจาะหลุม การเชื่อมต่อท่อกับแท่นปัจจุบัน จากที่ผ่านมาได้มีการจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างแท่นหลุมผลิตราว 8 แท่น มูลค่าราว 5-6 พันล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งหากการลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ และล่าช้าออกไป นั่นหมายถึงคามเสี่ยงความมั่นคงพลังงานของประเทศจะหายไปทันที จากความไม่ต่อเนื่องในการผลิต  ก๊าซฯขึ้นมาใช้

จี้“สนธิรัตน์”สั่งการ

ทางออกของปัญหาดังกล่าวนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะคนกลาง และเป็นผู้ปฏิบัติอาจจะยังไม่มีอำนาจพอที่จะสั่งการกับปัญหานี้ได้ซึ่งจะต้องอาศัย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งลงมาสั่งการหรือลงมากำกับการดำเนินงานเอง เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะข้อยุติในการวางหลักประกันค่ารื้อถอน ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายเร่งรัดการลงทุน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่จะไปเร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างไม่ต่ำกว่า 2 พันคน

หากยังปล่อยไว้เช่นนี้ เท่ากับเป็นการซื้อเวลาออกไป จะส่งผลให้แผนงานต่างๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงพลังานที่หายไปจากการผลิตก๊าซฯที่ไม่ต่อเนื่อง และต้องไปวางแผนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน และมีผลกระทบลูกโซ่ต่อไปยังอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และก๊าซหุงต้ม อาจจะเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ ที่สำคัญสร้างความเสียหายไม่เฉพาะปตท.สผ.ที่จะต้องจ่ายค่าปรับ จากการผลิตก๊าซไม่ได้ตามสัญญาเท่านั้น  แต่จะรวมถึงภาครัฐที่มีส่วนร่วมลงทุนตามสัญญาพีเอสซี จะต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าปรับอีกด้วย

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ความมั่นคงพลังงาน ผลิตก๊าซต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ