มาเลย์ฯระส่ำ “ไทย & จีน” รุกแย่งตลาดถุงมือ

06 ก.ค. 2563 | 05:10 น.

โควิด ดันถุงมือยางฟีเวอร์ “บอร์ดสุนทร” ปลุกนักวิจัยไทยตอบโต้แพ้ถุงมือยางธรรมชาติ ชี้เป็นข้อกีดกันการค้าที่ทำให้เสียเปรียบ ต้องงัดหลักฐานสู้  ชมรัฐมนตรีเกษตรฯ พลิกวิกฤติผนึก “รับเบอร์วัลเลย์” รุกโลกแย่งตลาดถุงมือมาเลย์

มาเลย์ฯระส่ำ “ไทย & จีน” รุกแย่งตลาดถุงมือ

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางประเทศไทย(สคยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในสถานการณ์ covid-19 ความต้องการถุงมือทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งถุงมือยางอื่นๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค จนทำให้ราคาน้ำยางสด พุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 43 บาท ซึ่งเท่ากับราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 และชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

แต่ความจริงจะเป็นตามข้อความข้างต้นหรือไม่ พี่น้องชาวสวนยางจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิดและภาวะหลังโควิด (New Normal) ในกรณีนี้หรือไม่  ปัจจุบันถุงมือยาง มี 2 ประเภท ตามแหล่งวัตถุดิบ

1. ถุงมือยางธรรมชาติ (Natural Rubber)

2. ถุงมือไนไตร จากยางสังเคราะห์ (Nitrile Butadiene Rubber : NBR)

มาเลย์ฯระส่ำ “ไทย & จีน” รุกแย่งตลาดถุงมือ

ประเทศมาเลเซียผู้นำการตลาดถุงมือยางของโลก ผลิตและจำหน่ายถุงมือไนไตร (ยางสังเคราะห์) 70% ถุงมือยางธรรมชาติ 30%  ทำไมถุงมือไนไตรจากยางสังเคราะห์ได้รับความนิยมมากกว่าถุงมือยางธรรมชาติ เกิดจากคุณสมบัติที่ถุงมือไนไตร ทนต่อสารเคมี กรดด่าง และทนต่อการเปลี่ยนแปลงช่วงอุณหภูมิที่กว้างกว่า รวมทั้งเกิดจากเทคนิคทางการตลาด ที่ถุงมือยางธรรมชาติถูกกล่าวหาว่า มีโปรตีนผสมอยู่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้ โดยเฉพาะผู้ใช้ถุงมือยางในยุโรปและอเมริกา

นายสุนทร กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้ถุงมือยาง 1.ถุงมือไนไตร ใช้ในอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ปิโตรเลียม ห้องเย็น ใช้ในการเกษตร โรงฆ่าสัตว์และชำแหละเนื้อสัตว์ ห้องแลปที่ผสมสารเคมี สถานที่สัก Tattoo รวมทั้งใช้เป็นถุงมือทางการแพทย์เพื่อตรวจโรค แต่ในกรณีนี้ถุงมือไนไตรมีข้อด้อยเพราะจะแข็งและยืดหยุ่นน้อยกว่าถุงมือยางธรรมชาติ เวลาสวมใส่จะไม่ค่อยกระชับมือและทำให้เมื่อยมือ

2.ถุงมือยางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ใช้เป็นถุงมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือผ่าตัด ที่ไม่สามารถใช้ถุงมือไนไตรได้ เพราะถุงมือยางธรรมชาติจะกระชับและยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยกับคนไข้

มาเลย์ฯระส่ำ “ไทย & จีน” รุกแย่งตลาดถุงมือ

ข้อเสนอแนะ 1 นักวิชาการด้านการยางของไทย ต้องใช้งานวิจัยตอบโต้ข้อกล่าวหา การแพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติ จนทำให้ถุงมือไนไตร เข้ามาแย่งตลาดถุงมือทางการแพทย์เพื่อตรวจโรค เพราะจากการหาข้อมูลของผู้เขียน พบว่าโปรตีนที่อยู่ในยางธรรมชาติมีปริมาณไม่สูงเกินข้อกำหนด และในขณะนี้มีนวัตกรรมที่สามารถกำจัดโปรตีนออกจากยางธรรมชาติได้

"ต้องสร้างกระแสการใช้ถุงมือยางธรรมชาติให้เพิ่มมากขึ้นภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) และเป็นไปตามกระแส Green เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก 3.การใช้ถุงมือยางธรรมชาติจะทำให้ราคายางสูงขึ้น พี่น้องชาวสวนยางของไทยจะได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ต้อง ร่วมมือกันผลักดันเพื่อผลิตและขยายตลาดถุงมือยางธรรมชาติให้เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งต้องเรียกร้องไปยัง Global Platform Sustainable Natural Rubber (GPSNR) ที่เป็นเวทีความร่วมมือระดับโลกเพื่อยางธรรมชาติที่ยั่งยืน ให้เป็นผู้นำการต่อสู้และผลักดันในเรื่องนี้"

มาเลย์ฯระส่ำ “ไทย & จีน” รุกแย่งตลาดถุงมือ

4.ประเทศไทยต้องเร่งสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางธรรมชาติให้มากขึ้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนวิสัยทัศน์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะให้ดำเนินการโครงการรับเบอร์วัลเลย์ (Rubber Valley) ในพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย  20,000 ไร่ อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางยางพาราของประเทศ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรมยางพาราครบวงจร โดยจะมีสถาบันวิชาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการยางรวมอยู่ด้วย