"รถไฟฟ้า" สายสีเขียว เปิดผลศึกษา แลกหนี้แสนล้าน ขยายสัมปทานบีทีเอส

05 ก.ค. 2563 | 02:25 น.

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) (วันที่ 30 มิ.ย.63)เห็นชอบ ผลศึกษา ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขยายสัมปทาน เดินรถให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (BTSC) รวม3ส่วนเข้าด้วยกัน โดยพิจารณาจาก 1.บีทีเอส เป็นผู้ชำนาญเดินรถในเส้นทางนี้หากใครแข่งขันเชื่อว่า ยากที่จะเข้ามา 2. รัฐลดภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท ในยามที่งบประมาณมีจำกัดท่ามกลางสถานการณ์โควิด - 19  3. ดึงคนใช้รถไฟฟ้าจากค่าโดยสารถูกลง ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ต่างจากอัตราค่าโดยสารเดิมที่ บีทีเอสคำนวนไว้ ที่ 158 บาท 4.เห็นด้วยว่าชอบด้วยกฎหมาย กรณีกรุงเทพมหานครยึดตามแนวทาง คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 แทนพ.ร.บ. เอกชนร่วมลงทุนรัฐปี 2562 (พีพีพี )

หลังมีข้อท้วงติงข้ามปีของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญที่เห็นต่างกระทั่งนำมาถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาเพื่อให้ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้ขาด นำโดย หมอหนูนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม

"รถไฟฟ้า" สายสีเขียว เปิดผลศึกษา แลกหนี้แสนล้าน ขยายสัมปทานบีทีเอส

หากย้อนไปในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทสัญญาทางด่วนขั้นที่2ระหว่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM กับคู่กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เพิ่งได้ข้อยุติลงไม่นาน กมธ.วิสามัญ ชุดนี้กลับเห็นด้วย ดังนั้น จึงมองว่า การขยายสัมปทานเดินรถบีทีเอส เพื่อแลกภาระหนี้กับ กรณีทางด่วน จึงไม่น่าจะแตกต่างกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อขยาย "สีเหลือง" BTS ปะทุ รฟม. จ่อหย่าศึกชดเชย BEM

ศึก BTS หัก BEM

ลุ้นค่าตั๋ว “BTS” 65 บาท ข้าม 3 จังหวัดปลายปี “สายสีเหลือง - สีชมพู” เลื่อนยาว

โดยรายละเอียดผลศึกษากระทรวงคมนาคม ที่ออกมาจากแฟ้มทำเนียบรัฐบาล ระบุไว้ว่า “ภายหลังจากคณะกรรมการฯ พิจารณารายงานของกมธ.วิสามัญ กรณี ผลการศึกษาการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสนั้น เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้สรุปความเห็นถึงการขยายสัมปทานดังกล่าวพบว่า กมธ.มีเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จำนวน 19 คน เห็นด้วย 12 คน งดออกเสียง 6 คน ไม่ส่งความเห็น 1 คน และลาการประชุม 1 คน”

เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากสัญญาสัมปทานที่เหลือ ระยะเวลา 10 ปี ที่จะสิ้นสุดปี 2572 นั้น ควรทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ไปก่อน หากสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2572 จึงดำเนินการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายใหม่ที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนพีพีพี โดยให้กทม.เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ เพื่อให้ค่าโดยสารถูกสุดสำหรับประชาชน รวมถึงการขยายสัมปทานอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในส่วนของสายสีเขียว ทำให้ปัญหาสายสีอื่นๆยังคงอยู่ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ทั้งนี้การให้เอกชนทำพีพีพีแบบ Gross caost น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

ขณะกมธ.ฯ เสียงส่วนน้อยมีความเห็นให้ขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากการใช้คำสั่งคสช.ทดแทนพีพีพีถูกต้องตามกฎหมาย หากสามารถดำเนินการเสนอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน ทางกทม. ควรกำหนดกรอบการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้และค่าใช้จ่ายของกทม. ตลอดจนการเดินระบบรถและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการลดค่าโดยสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการขยายสัญญาสัมปทานฯ นั้น ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนหรือผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและผลตอบแทนแก่รัฐที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้รับสัมปทาน โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุดมากกว่าผลตอบแทนที่รัฐหรือผู้รับสัมปทานจะได้รับ ขณะที่ กทม.ได้เจรจากับผู้รับสัมปทานโดยรวม ว่า การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดทั้งสายหลักและส่วนต่อขยาย นั้น เป็นเส้นทางเดียวโดยให้มีการปรับลดอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ส่งผลให้ลดอัตราค่าโดยสารของสาย สีเขียวสายหลักลดลง ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ หากเทียบกับอัตราค่าโดยสารที่มีการคิดตามระยะทางในปัจจุบัน พบว่า มีอัตราค่าโดยสารสูงสุด อยู่ที่ 158 บาท ทำให้อัตราค่าโดยสารขั้นสูงมีส่วนต่างอยู่ที่ 93 บาท ขณะเดียวกันการเจรจาขยายสัมปทานในครั้งนี้ จะทำให้   ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ จากค่าโดยสาร เนื่องจากค่าโดยสารแบบราคาเดียว เป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าโดยสารที่คิดตามระยะทางในปัจจุบัน หากมีการจ้างเอกชนราย  อื่นมาเดินรถในส่วนต่อขยาย อาจมีข้อจำกัดให้การเดินรถของทั้งโครงการไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

บทสรุปสุดท้าย เสียงเคาะโต๊ะดังปัง จากครม.ลุงตู่ เชื่อว่าเร็วๆนี้ ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จะมีข่าวดี!!!

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5-8  กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"รถไฟฟ้า" สายสีเขียว เปิดผลศึกษา แลกหนี้แสนล้าน ขยายสัมปทานบีทีเอส