ทลายแหล่งจำหน่าย “ยาไซลาซีน” ไม่มีใบสั่งแพทย์ พ่วง ปมลักลอบผลิตยาสัตว์เถื่อน

03 ก.ค. 2563 | 09:13 น.

สตช. ร่วมกับ อย.- สสจ.นครปฐม ทลายแหล่งจำหน่าย “ยาไซลาซีน” ไม่มีใบสั่งแพทย์ ขยายผลตรวจสอบ พบลักลอบผลิตยาสัตว์เถื่อน ไม่ได้รับอนุญาต

สตช. ร่วมกับ อย.-สสจ.นครปฐม ทลายแหล่งจำหน่ายยาไซลาซีน ไม่มีใบสั่งแพทย์ย่านจังหวัดนครปฐม ขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติม พบ ลักลอบผลิตยาสัตว์เถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงทำการยึดของกลางเป็นยาไม่มีทะเบียนเป็นจำนวนมาก และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอีกหลายรายการ รวมมูลค่าของกลางกว่า 50 ล้านบาท

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2563) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงาน พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ รองฯ ผบก.ปคบ.,  พ.ต.อ.พานทอง สุวรรณจูฑะ รอง ผบก ภ.จว.มหาสารคาม หัวหน้าส่วนอำนวยการ และ พ.ต.อ.ภาส สิริสุขะ รอง ผบก.ตม.3 หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. รองหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ สว.กก.4 บก.ปคบ., พ.ต.ต.พีระ  พันธุวงศ์ สว.(สอบสวน) กก.4 บก.ปคบ. พร้อมชุด ปฏิบัติการที่ 4 กก.4 บก.ปคบ. พร้อมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม โดยนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม, เภสัชกรหญิงรัตนาวดี จูละยานนท์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐมร่วมกันแถลงผลการทลายแหล่งลักลอบผลิตยาสัตว์เถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตดังนี้

จากที่เป็นข่าวกรณีชายไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเทศบาลนนทบุรี โพสต์เตือนภัย ว่าตนเองถูกเจาะขวดน้ำดื่มเพื่อวางยา  อย.ได้ประสาน บก.ปคบ.ให้ทำการสืบสวนและตรวจสอบข้อมูล พบว่าเพจเฟซบุ๊กชื่อ “DR.VET ฟาร์ม เซ็นเตอร์” ได้โพสต์โฆษณาขายยาผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งยาเอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) ซึ่งเป็นยาสำหรับสัตว์และเป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ ซึ่งหากจะขายได้ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาขายยาสัตว์อีกหลายรายการ ทั้งที่มีทะเบียนตำรับยาและไม่มีทะเบียนตำรับจึงได้ขอหมายเข้าตรวจค้น บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 21 ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ ในชื่อร้าน “หมอยาสัตว์” โดยเมื่อเวลา 11.50 น.ของวานนี้ (2 ก.ค.63) เจ้าหน้าที่ได้ทำการขอซื้อยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลปรากฏว่าทางร้านฯ ได้ขายยา เอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) เลขทะเบียน 1 D 17/51 ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์ โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และเป็นการขายนอกเวลาทำการตามใบอนุญาตฯ

ทั้งนี้ เวลาทำการตามใบอนุญาตฯของร้านหมอยาสัตว์ คือ ช่วงเวลา 17.30 -20.30 น. นอกจากนี้เมื่อตรวจค้นขยายผลเพิ่มเติม พบการลักลอบผลิตยาสัตว์ไม่มีทะเบียนหลายรายการ เช่น

1.กลุ่มยาฉีดและยากิน ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา ระบุสรรพคุณเป็นยาฉีดป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ สำหรับสุนัขและแมว รักษาขี้เรื้อนเปียก ขี้เรื้อนแห้ง กำจัดเห็บหมัด และไรในหู กำจัดและควบคุมพยาธิตัวกลมในกระเพาะลำไส้ กำจัดและควบคุมพยาธิปอด ภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ อาทิ  Ivermec® ประกอบด้วยตัวยา Ivermactin มีทั้งขนาด 100 ml และขนาด 10 ml , ภายใต้ชื่อ Ivermec F-Plus® ประกอบด้วยตัวยา Ivermactin ขนาด 100ml และ En-Dex 8000® ประกอบด้วยตัวยา ไอเวอร์เม็คติน 8,000 ไมโครกรัม เป็นต้น 

2.กลุ่มยาฆ่าเชื้อ ทั้งยาฉีดและยากิน ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา ภายใต้ชื่อการค้า เช่น เอนโร-150 (ENRO-150®) ประกอบด้วย ENROFLOXACIN 150 mg สรรพคุณรักษาท้องร่วง ลำไส้อักเสบ ปอดบวม โพรงจมูกอักเสบ ไข้หน้าแดง เต้านมอักเสบ มดลูกอักเสบ ข้ออักเสบ และแผลติดเชื้อ และ AMOXCOL Injection® ประกอบด้วย Amoxycillin Trihydrate 200mg, Colistin Sulphate 400,000 IU ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ เป็นต้น 

3.กลุ่มยาฮอร์โมนสำหรับไก่ ฉลากไม่แสดงทะเบียนตำรับยา ภายใต้ชื่อการค้า อาทิ บิ๊ก-เอ็ม (BIG-M) Anabolic 10 mg สรรพคุณเร่งการสร้างกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังป่วย-หลังชน เร่งการเจริญของกล้ามเนื้อไม่ให้ลีบเล็ก และช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ BLOOD CARE® สรรพคุณเร่งการสร้างกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อสำหรับม้า

เจ้าหน้าที่ได้ยึดยาไม่มีทะเบียนตำรับ พร้อมยึดอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด จำนวนรวมกว่า 100 รายการ และตั้งประเด็นความผิดที่พบตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ดังนี้

1.กรณีพบการลักลอบตั้งโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโรงงานเถื่อน มีความผิดดังนี้ ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 12 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท, ผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72(4) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีพบการโฆษณาขายยาทางสื่อออนไลน์ มีความผิดฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพจากผู้อนุญาต  ฝ่าฝืนมาตรา 88 ทวิ  โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

รวมถึงกรณีพบการขายยาเอ็กซ์-ลาซีน (X-LAZINE) เลขทะเบียน 1 D 17/51 ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษสำหรับสัตว์โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และเป็นการขายนอกเวลาทำการตามใบอนุญาตฯ ผู้รับอนุญาตมีความผิดดังนี้ ขายยานอกเวลาทำการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ของร้านฯ มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฝ่าฝืนมาตรา 26(7) โทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท - 10,000 บาท และขายยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ฝ่าฝืนมาตรา 32 โทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท - 5,000 บาท

และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ มีความผิดดังนี้ กรณีไม่ควบคุมการทำบัญชีการซื้อและขายยา ฝ่าฝืนมาตรา 42(5) โทษปรับตั้งแต่1,000 บาท - 5,000 บาท ,ไม่ควบคุมให้ขายยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ที่เป็นยาควบคุมพิเศษเฉพาะตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฝ่าฝืนมาตรา 42 (6) โทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท - 5,000 บาท

ทั้งนี้ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากกรณีนักวิ่งในสวนสาธารณะศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ตั้งขวดน้ำทิ้งไว้ก่อนออกไปวิ่ง กลับมาดื่มน้ำแล้วมีอาการภาพหมุน หายใจติดขัด และคลื่นไส้ แพทย์วินิจฉัยว่า อาการคล้ายได้รับสารบางอย่างและคาดอาจเป็นฝีมือของมิจฉาชีพวางยาหวังชิงทรัพย์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงได้มอบหมายคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเน้นย้ำในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากผลการปฏิบัติงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก และขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบกระทำความผิด  ไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด 

ด้านนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. และ สตช. จะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดย อย.ได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดจัดการปัญหาการขายยาออนไลน์ ผู้ใดขายยาออนไลน์จะถูกดำเนินคดีทั้งเรื่องการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโทษมีทั้งจำคุกและปรับ 

จากการสืบสวนขยายผลเข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต และขายยาดังกล่าว ผลการตรวจค้นในครั้งนี้ พบว่า เป็นร้านที่ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ เลขที่ใบอนุญาต ขย 3 นฐ 1/2559  ชื่อ หมอยาสัตว์ บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 21 ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เวลาทำการตามใบอนุญาตฯ เวลา 17.30 - 20.30 น. ซึ่งนอกจากพบว่า เป็นการขายยานอกเวลาทำการและเป็นการขายยาควบคุมพิเศษโดยไม่มีใบสั่งยาจากสัตว์แพทย์แล้ว ยังพบการลักลอบผลิตยาสัตว์ไม่มีทะเบียนตำรับยาหลายรายการ จึงขอเตือนผู้ซื้อยาทั้งหลายให้ตรวจสอบการอนุญาตทั้งผลิตภัณฑ์และสถานที่ขายยาให้ดีก่อนสั่งซื้อยาเพราะอาจได้รับยาที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ การขายยาออนไลน์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหากพบผู้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า หากมีการใช้ยาสำหรับสัตว์อย่างไม่ถูกต้องโดยไม่ได้ปรึกษาสัตว์แพทย์ อาจทำให้สัตว์นั้นได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคพยาธิหัวใจในสัตว์ ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermactin) หากมีการใช้ในปริมาณสูง จะมีอันตรายต่อสุนัขบางสายพันธุ์ หรือกลุ่มยาคุมสำหรับสัตว์หากใช้ระยะเวลานานจะมีผลทำให้มดลูกในสัตว์อักเสบ หรือกลุ่มยาฆ่าเชื้อหากมีการใช้ไม่ถูกขนาดหรือระยะเวลาที่ใช้ไม่เหมาะสม อาจทำให้สัตว์นั้นเกิดการดื้อยาหรือเกิดผลตกค้างในสัตว์ได้ นอกจากนี้ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง  เช่น มีพิษต่อตับ ไต ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงระบบทางเดินหายใจ  ซึ่งอาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้  จึงขอเตือนมายังผู้ผลิตและขายยาสำหรับสัตว์ อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นลักลอบผลิตโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือการขายยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน  เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวสัตว์ ขอให้คำนึงไว้เสมอว่า สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการใช้ยาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคด้วย โดยเลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสัตว์แพทย์ และหากเป็นกลุ่มยาควบคุมพิเศษ ก็ต้องมีใบสั่งยาจากสัตว์แพทย์ชั้นหนึ่งจึงจะสามารถซื้อขายยาดังกล่าวได้