สตง.อัดเน็ตประชารัฐงบ 1.3 หมื่นล.พบตรวจสอบทรัพย์สินโครงการไม่รัดกุม

02 ก.ค. 2563 | 10:35 น.

สตง. แจง ผลตรวจสอบ โครงการเน็ตประชารัฐ ภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงินงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท พบ ยังไม่สะท้อนความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การตรวจสอบ-ติดตามทรัพย์สินโครงการยังไม่รัดกุมเพียงพอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศอื่น โดยทุกคนเข้าถึงได้ (Accessible) มีความพร้อมใช้ (Available) และอยู่ในราคาที่จ่ายได้ (Affordable) มีขอบเขตการดำเนินงาน อาทิ การจัดให้มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

การกำหนดให้มีการสำรวจและออกแบบจุดให้บริการ Free Wi-Fi ให้สามารถเข้าถึงและใช้บริการได้โดยสะดวกและเหมาะสมอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุด โดยให้บริการที่ความเร็วไม่ต่ำกว่า30 Mbps/10Mbps (Download/Upload) และจัดทำแผนสนับสนุนการใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีอีเอส เผยสถิติยอดดาวน์โหลด เน็ตอาสาประชารัฐ พุ่ง

โครงการเน็ตประชารัฐดำเนินการวางโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) และจัดให้มีจุดให้บริการ Free Wi-Fi แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 และดำเนินการตามแผนสนับสนุนการใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 – กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งกำหนดกิจกรรมหลักจำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ การสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน การตรวจสอบติดตามและประเมินทรัพย์สินโครงการ การสนับสนุนภารกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ  

จากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ ปรากฏสาระสำคัญ ดังนี้

1.ยังไม่มีการเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับประชาชน ภายหลังจากการดำเนินการวางโครงข่ายแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการกำหนดให้การออกแบบและติดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงจะต้องมีลักษณะทางกายภาพเป็นโครงข่ายแบบเปิด ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการอื่นได้โดยสะดวก เพื่อให้เกิดการบูรณาการการใช้ทรัพยากรสื่อสาร ลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุน สามารถให้บริการประชาชนอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า โครงการเน็ตประชารัฐ ยังไม่สามารถเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย หลังจากวางโครงข่ายแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งในการจัดให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดซึ่งเป็นการเปิดให้เอกชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐเพื่อการพาณิชย์ ยังไม่มีการประกาศใช้แนวทาง/หลักเกณฑ์การให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดของโครงการเน็ตประชารัฐ จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ อาทิ เกิดการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนจำนวนมากถึง 9,848.56 ล้านบาท และประชาชนเสียโอกาสในการมีทางเลือกในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสมในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา  รวมทั้งการดำเนินโครงการอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย ในการเข้าถึงโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของโครงการ อาจยังไม่สามารถสนับสนุนนโยบายและแผนระดับชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดเป้าหมายให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ สามารถใช้ประโยชน์ตามหลักการโครงข่ายแบบเปิดและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ตามวัตถุประสงค์ จึงเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาดำเนินการ เปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถเข้าเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดประกอบการจัดทำสัญญาการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ เช่น ข้อเสนอทางเทคนิค อัตราผลตอบแทน ที่เป็นส่วนประกอบในสัญญา เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อให้บริการประชาชนในเชิงพาณิชย์ได้โดยเร็ว

2. การตรวจสอบและติดตามการใช้ทรัพย์สินของโครงการเน็ตประชารัฐ ยังไม่รัดกุมเพียงพอ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้ศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบตรวจสอบหรือติดตามการใช้ประโยชน์จากโครงการ โดยติดตามการใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐจากศูนย์บริหารจัดการโครงข่าย (Network Operation Center : NOC) และสามารถติดตามผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ผลการตรวจสอบพบว่า ยังไม่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายแบบเปิด ส่งผลกระทบให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางราย นำโครงข่ายดังกล่าว ไปใช้งานโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในฐานะเจ้าของโครงข่าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงกำหนด ส่งผลให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

สตง. จึงเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาดำเนินการตรวจสอบติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดทั้งหมด หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม แล้วทำให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่รัฐควรได้รับให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณี รวมทั้งให้กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง หรือคู่มือสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ ติดตามการใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามแผนบริหารจัดการให้เป็นปัจจุบันอย่างเข้มงวดและเพียงพอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ณ ช่วงเวลาที่มีการเปิดใช้โครงข่ายแล้ว

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายทั้งจากจุดให้บริการ Free Wi - Fi ของโครงการเน็ตประชารัฐ และจากแหล่งอื่น ๆ พบว่ายังไม่สามารถสะท้อนความสำเร็จของการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายมีการใช้ประโยชน์จุดให้บริการ Free Wi-Fi จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่กำหนดไว้ สตง. จึงเสนอแนะให้พิจารณาดำเนินการทบทวนแนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐว่ายังมีความจำเป็นต้องสนับสนุนหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีความจำเป็น ให้เลือกแนวทางจัดอบรมโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้าร่วมอบรมในแต่ละพื้นที่ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจน โดยการกำหนดแนวทางการพิจารณาปรับรูปแบบให้สอดคล้อง ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และหากจะมีการดำเนินโครงการในลักษณะที่ต้องมีการกำหนดหรือคัดเลือกจุด/พื้นที่ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก โครงการลักษณะดังกล่าวควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการพิจารณาจุดหรือพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจนโดยให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกจุดติดตั้งที่เหมาะสม สอดคล้องตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่  เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด