"กรมเชื้อเพลิงฯ" ยันเจาะสำรวจ “ปิโตรเลียม” ด่านขุนทดตามมาตรฐาน

01 ก.ค. 2563 | 10:40 น.

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ยืนยันการเจาะสำรวจ “ปิโตรเลียม” ตำบล "ด่านขุนทด" เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

ตามที่มีข่าวว่าได้มีชาวบ้านหมู่ 5 บ้านใหม่เจริญสุข ตำบลด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ประท้วงบริเวณหลุมสำรวจปิโตรเลียม DKT-1 (ด่านขุนทด) ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L29/50 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ (1997) จำกัด เนื่องจากเกิดเสียงดังรบกวนจากการทำงานของเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านบริเวณดังกล่าว นั้น

ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษก "กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ" เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้รับรายงานจากบริษัทผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที โดยขอยืนยันว่าในการดำเนินกิจกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกพื้นที่รวมถึงการเจาะสำรวจหลุม DKT-1 (ด่านขุนทด) ได้กำกับดูแลในทุกกิจกรรมที่บริษัทผู้รับสัมปทานดำเนินงาน

"กรมเชื้อเพลิงฯ" ยันเจาะสำรวจ “ปิโตรเลียม” ด่านขุนทดตามมาตรฐาน

ทั้งนี้  ได้จัดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับดูแลในฐานที่ดำเนินโครงการดังกล่าว และเน้นให้ดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมภายใต้กฎหมายปิโตรเลียมและกฎหมายอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด ซึ่งในการดำเนินงานสำรวจ หลุมปิโตรเลียม DKT-1 (ด่านขุนทด) นี้ บริษัทผู้รับสัมปทานได้ดำเนินการเจาะหลุมสำรวจดังกล่าวตามแผนการดำเนินงานที่ส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการเจาะสำรวจประมาณ 180 วัน นับจากวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ได้เริ่มการเจาะสำรวจ

อย่างไรก็ดี  ในการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม จำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำโคลนเพื่อช่วยในการดำเนินงาน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวทำงานด้วยระบบเพลาหมุนจากเครื่องยนต์ ทำให้อาจมีเสียงดังจากการเดินเครื่องยนต์และต้องมี การเดินเครื่องสำหรับการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการเจาะหลุมปิโตรเลียมทั่วไป เนื่องจากการพักหรือหยุดการเดินเครื่องระหว่างการเจาะสำรวจนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลุมปิโตรเลียมได้

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวัดระดับความดังของเสียงในบริเวณดังกล่าวพบว่ามีค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประมาณ 65 เดซิเบล ซึ่งไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำหนดระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบล โดยภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับทราบข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานให้มีการนำแผ่น fiber glass มาพันรอบท่อไอเสียของเครื่องยนต์ที่ส่งกำลังให้เครื่องปั๊มน้ำโคลนทำงานเพื่อลดการสั่นของท่อ ซึ่งจะช่วยให้ระดับความดังเสียงลดลงได้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหามาตรการอื่นเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามข้อกำหนดในมาตรการต่าง ๆ ที่ชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้บริษัทฯ ดำเนินการอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสมในกรณีเกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ กับประชาชนเพื่อให้การดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งในกรณีที่มีการสำรวจพบปิโตรเลียมเพียงพอต่อการพัฒนา ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ สร้างรายได้ให้แก่รัฐสำหรับพัฒนาประเทศ แต่ในกรณีที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียม ก็จะหยุดการดำเนินงาน และคืนพื้นที่สำรวจทั้งหมดแก่รัฐต่อไป”