“อนุสรณ์” แนะแก้กฎหมายจ่ายชดเชยเพิ่มลด “การเลิกจ้าง”

29 มิ.ย. 2563 | 01:05 น.

“อนุสรณ์” แนะแก้กฎหมายจ่ายชดเชยเพิ่มลด “การเลิกจ้าง” พร้อมเร่งใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทจ้างงานขนาดใหญ่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยในการบรรยายหัวข้อ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานหลังโควิด” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทำให้เกิดสถานการณ์ทยอยเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสื่อสารมวลชน ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์

ธุรกิจชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ธุรกิจบันเทิงและจัดงาน Event ต่างๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน กิจการอุดมศึกษาเอกชน เป็นต้น  คาดว่าอัตราการว่างงานอาจขึ้นแตะระดับ 10% (คิดเป็นประมาณ 3.81 ล้านคน) ของกำลังแรงงานและอาจทำให้มีคนว่างงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ว่างงานแฝงและทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน ขบวนการแรงงานต้องมีความเป็นเอกภาพและเข้มแข็งเพื่อช่วงบรรเทาความลำบากทุกข์ยากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และ ควรมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในใช้งบประมาณเงินกู้สี่แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้างและดำเนินโครงการ Reskill/Upskill เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย  

ทั้งนี้ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” (Covid-19) ไม่สะท้อนมายังตัวเลขการว่างงานในไตรมาสแรกแต่จะสะท้อนชัดเจนมากขึ้นในตัวเลขไตรมาสสองและครึ่งปีหลัง การประเมินตัวเลขของทางการที่มองว่าอัตราการว่างงานจะขึ้นไปแตะระดับ 4% และอาจมีคนว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคนน่าจะเป็นการมองโลกในแง่บวกเกินไปและประเมินว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนหลังคลายล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในระดับ 4% ก็ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 23 ปีใกล้เคียงกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2541 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.4%

“อนุสรณ์” แนะแก้กฎหมายจ่ายชดเชยเพิ่มลด “การเลิกจ้าง”

อย่างไรก็ดี  รัฐบาลต้องรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดความหนืดในการเลิกจ้างด้วยการแก้กฎหมายให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในกรณีที่มีการเลิกจ้าง และให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้บริษัทข้ามชาติยังคงจ้างงานและขยายกิจการในไทย ไม่โยกย้ายฐานการผลิต  

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้สถานการณ์การจ้างงานกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย และแรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับไปมีรายได้เช่นเดิม โดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกเนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศด้วย เช่น มาตรการการกักตัว มาตรการยกเลิกเส้นทางการบิน เป็นต้น

การเร่งรัดใช้งบประมาณเงินกู้สี่แสนล้านบาทเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 5.2 แสนคน ซึ่งประมาณ 60% ไม่น่าจะมีตำแหน่งงานรองรับ แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องมีปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ มาตรการชดเชยรายได้เป็นระยะเวลาสามเดือนให้กับแรงงานอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown ก็จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีรายได้ไม่มีงานทำ รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับเพิ่มเติมด้วย

ประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงานว่า  มาตรฐานแรงงานไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานโลก กระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยเมื่อ 27 มิถุนายน 46 เพื่อให้สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด นำไปปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้วยความสมัครใจ การดำเนินธุรกิจและดำเนินการผลิตต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน (รวมสิทธิแรงงานด้วย) สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องทบทวนข้อกำหนดแห่งมาตรฐานแรงงานในช่วงนี้เนื่องจากมีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างและทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี

“อนุสรณ์” แนะแก้กฎหมายจ่ายชดเชยเพิ่มลด “การเลิกจ้าง”

มาตรฐานนี้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมาช่วงและการจ้างงานแบบไม่เป็นมาตรฐานด้วย สถานประกอบกิจการต้องให้ลูกจ้างได้รับข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวด เป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถเข้าใจรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆได้ สถานประกอบกิจการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ มาตรฐานแรงงานไม่สามารถครอบคลุมแรงงานจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกระบบ

สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรม และพัฒนา การพิจาณาเลื่อนขั้น หรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุการทำงานและอื่นๆ อันเนื่องมาจากเหตุเพราะความแตกต่างในเรื่องของสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพสมรส ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นผู้ป่วยเอดส์ การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ นายจ้างได้ถือโอกาสช่วงวิกฤติเศรษฐกิจกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น

สถานประกอบกิจการต้องไม่ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใดๆ ที่จะเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างที่ไม่มีผลเสียหายต่อกิจการ ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ประเพณีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความพิการการเป็นกรรมกรลูกจ้าง การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือพรรคการเมือง และการแสดงออกตามทัศนคติส่วนบุคคลอื่นๆ สถานประกอบกิจการต้องไม่ลงโทษทางวินัย โดยการหัก หรือลดค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือการสนับสนุนให้ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือกระทำการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายลูกจ้าง

สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อมิให้ลูกจ้างถูกล่วงเกิน คุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใด สถานประกอบกิจการต้องเคารพสิทธิลูกจ้างในการรวมตัวจัดตั้งและร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่นๆ ในสถานประกอบกิจการ อีกทั้งยอมรับการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือก หรือเลือกตั้งผู้แทน โดยไม่ระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิของลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ และต้องปฏิบัติต่อผู้แทนลูกจ้างโดยเท่าเทียมกับลูกจ้างอื่นๆ โดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆที่ไม่เป็นธรรม

สถานประกอบกิจการต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ครอบคลุมประเภทงาน หรือลักษณะงานที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการควบคุม ป้องกันให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อมในการทำงาน สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตราย และลดปัจจัยเสี่ยงให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย ขณะนี้หลายกิจการ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมลดมาตรฐานแรงงานลงมาเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มการกีดกันทางการค้าอันนำมาสู่ผลกระทบต่อกิจการและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด