การปรับสูตรราคา อ้างอิงหน้าโรงกลั่น

26 มิ.ย. 2563 | 10:00 น.

กรปรับสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ว่า กบง.เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่นฯใหม่ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นฯลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาน้ำมันขายปลีกให้ลดลง 50 สตางค์ต่อลิตรด้วย

ประเทศไทยใช้ราคาเทียบเคียงการนำเข้า (Import Parity) จากสิงคโปร์ เป็นราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่นฯ มาตั้งแต่เริ่มมีการส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นฯในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสิงคโปร์ เพราะในระยะแรกโรงกลั่นฯในไทยยังมีกำลังการกลั่นไม่พอใช้ในประเทศ ต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นโรงกลั่นน้ำมันฯในไทยจึงต้องแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์โดยตรง

ต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงกลั่นฯมากขึ้นจนมีกำลังการกลั่นล้นเกินความต้องการในประเทศและต้องส่งออก จึงมีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเรายังมีความจำเป็นต้องอิงราคาเทียบเคียงการนำเข้าอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะเราไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ แต่นำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ถ้าไปใช้ Import Parity ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจริง เช่นค่าขนส่ง ค่าประกัน และค่าสูญหาย บวกเข้าไปในต้นทุน ทำให้ราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่นสูงกว่าที่ควร

เรื่องนี้กลายประเด็นเห็นต่างและมีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นในระยะหลังยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 3 เป็นยูโร 4 ซึ่งเดิมที่สิงคโปร์ไม่มีน้ำมันสเปกยูโร 4 จึงต้องอ้างอิงยูโร 3 แล้วบวกค่าปรับปรุงคุณภาพเข้าไป แต่ปัจจุบันสิงค์โปร์มีน้ำมันสเปกยูโร 4 แล้ว จึงควรตัดค่าปรับปรุงคุณภาพออก

ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้เสีย (Stake Holders) ทุกฝ่ายขึ้น เพื่อศึกษาประเด็นที่เห็นต่างเหล่านี้ จนได้ข้อสรุปออกมาให้ยกเลิกการอ้างอิงราคาเทียบเคียงการนำเข้า (Import Parity) 

แต่ยังคงให้อ้างอิงราคาสิงคโปร์ (MOPS) บวกด้วยส่วนต่างค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมาสิงคโปร์ และมาไทย เพราะค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมาไทยสูงกว่าสิงคโปร์ จึงตัดประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายเทียมออกไปได้

การปรับสูตรราคา  อ้างอิงหน้าโรงกลั่น

ส่วนเรื่องค่าปรับปรุงคุณภาพก็ให้ทบทวนใหม่โดยให้อ้างอิงราคาน้ำมันคุณภาพยูโร 4 ของสิงคโปร์ แล้วบวกค่าปรับปรุงคุณภาพเฉพาะในส่วนที่สเปกยูโร 4 ของไทยสูงกว่าสิงคโปร์เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของเราเป็นระบบค้าเสรี มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กระทรวงฯจึงไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการ แต่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละเจ้าและแต่ละสถานีบริการจะเป็นผู้ตั้งราคาและปรับขึ้นลงตามสภาพการแข่งขันอย่างเสรี

โครงสร้างดังกล่าวจึงมีไว้เพื่ออ้างอิงและติดตามกำกับดูแลเท่านั้น ไม่มีผลบังคับกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด โดยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าสถานีบริการจะปรับขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก

กระทรวงฯมีหน้าที่ในการติดตามกำกับดูแลผู้ค้าฯ โดยดูที่ “ค่าการตลาด” ที่เหมาะสม ซึ่งกบง.เคยเห็นชอบเอาไว้ที่อัตราเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ที่ 1.85 บาทต่อลิตร โดยมีความยืดหยุ่นอาจบวกหรือลบได้ในช่วง 40 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้นค่าการตลาดเฉลี่ยอาจขึ้นลงได้ในช่วง 1.45-2.25 บาทต่อลิตร

ดังนั้น จะดูว่าบริษัทน้ำมันมีการแข่งขันกันจริงหรือไม่ก็ให้ดูที่ค่าการตลาดครับ !!!

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563